'เลย์' ใช้มันฝรั่งไทย 1 แสนตันต่อปี เดินหน้าแก้โจทย์เกษตรกรรุ่นใหม่ลดลง

30 ปีแห่งความยั่งยืน จาก “ไร่มันฝรั่ง” สู่ “เลย์” ภารกิจสร้างความมั่นคงทางอาหารของเป๊ปซี่โค ประเทศไทย
KEY
POINTS
- เลย์เริ่มดำเนินธุรกิจขนมขบเคี้ยวในไทยปี 2538 ก่อตั้งโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวแห่งแรกที่จังหวัดลำพูน
- สนับสนุนการปลูกมันฝรั่งในพื้นที่เกษตรกรไทยกว่า 38,000 ไร
บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด หรือ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ผู้ผลิตมันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์ "เลย์" ได้เริ่มดำเนินธุรกิจขนมขบเคี้ยวในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยก่อตั้งโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวแห่งแรกที่จังหวัดลำพูน บริษัทได้มุ่งมั่นลดการพึ่งพามันฝรั่งนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยการทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในประเทศ โดยส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรและเพิ่มผลผลิตผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
ปัจจุบันบริษัทได้สนับสนุนการปลูกมันฝรั่งในพื้นที่เกษตรกรไทยกว่า 38,000 ไร่ ครอบคลุม 9 จังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา ตาก และเพชรบูรณ์ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 90 ของทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีการปลูกมันฝรั่งใน 2 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนคร และนครพนม คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 10 โดยมีเกษตรกรรวมทั้งหมดประมาณ 5,800 คน
ต้นน้ำการผลิต คือ “เกษตรกร”
สุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำประเทศไทยและเวียดนาม บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวถึงความมุ่งมั่นของเป๊ปซี่โคว่า บริษัทมุ่งมั่นในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับภาคเกษตรทั่วโลก และสำหรับประเทศไทย เป้าหมายสูงสุดของเราคือการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) โดยการสนับสนุนเกษตรกรไทยให้สามารถผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพด้วยวิถีที่ยั่งยืน โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ต้นน้ำของการผลิต คือ “เกษตรกร” ซึ่งไม่เพียงเป็นหัวใจสำคัญของการผลิต แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบอาหารไทยที่แข็งแกร่ง โดยเป๊ปซี่โคได้ผลักดันการเกษตรด้วยวิถีที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตของทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย
ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา การส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยบทเรียนและความท้าทาย โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีแรก การปลูกมันฝรั่งต้องเผชิญกับอุปสรรคและความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ
“เราเรียนรู้ไปพร้อมกับเกษตรกร ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์มันฝรั่ง วิธีการปลูก ไปจนถึงการจัดเก็บ ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ในช่วงเริ่มต้นนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความล้มลุกคลุกคลานและการทดลองอย่างไม่หยุดยั้ง ความผิดพลาดเกิดขึ้นมากกว่าความสำเร็จ แต่ท้ายที่สุดเราก็ค่อยๆ สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งขึ้น”
ใช้มันฝรั่งปลูกในไทยปีละแสนตัน
สุริวัสสา กล่าวด้วยว่า ในอีก 10 ปีถัดมา ความเติบโตเริ่มเข้าสู่จุดที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ได้นำพาความท้าทายครั้งใหม่มาสู่ภาคเกษตร แต่ด้วยความพยายามและความร่วมมือระหว่างเป๊ปซี่โคกับเกษตรกร ส่งผลให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วง 10 ปีหลัง ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 1-2 ตัน กลายเป็น 3-4 ตัน และบางพื้นที่มีผลผลิตสูงถึง 5 ตัน นี่ไม่เพียงเป็นความสำเร็จ แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงสำหรับเกษตรกรไทย
ปัจจุบัน “เลย์” ที่ผลิตในไทยใช้มันฝรั่งที่ปลูกได้เองในประเทศไทยเฉลี่ยปีละเกือบ 100,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 จากผลผลิตทั้งหมดที่นำมาผลิตมันฝรั่งทอดกรอบเลย์ที่จำหน่ายในประเทศ ที่เหลืออีกร้อยละ 30 นำเข้าจากต่างประเทศ และปีนี้เป็นอีกปีที่คาดว่าจะได้ผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ถึง 100,000 ตัน
สังคมผู้สูงอายุ เกษตรกรหนุ่มสาวลดลง
ความสำเร็จในการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยไม่เพียงสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ที่ตระหนักถึงความท้าทายในอนาคต ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศ
ปัจจุบัน ร้อยละ 49 ของเกษตรกรไทยมีอายุระหว่าง 40-60 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เกษตรกรที่มีอายุระหว่าง 15-40 ปีลดลงถึง 32% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรไทยอย่างชัดเจน
“สุริวัสสา” กล่าวว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในภาคเกษตรไม่ได้เป็นความท้าทายเพียงสำหรับเป๊ปซี่โค แต่เป็นความท้าทายระดับประเทศที่ต้องการการสนับสนุนในด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีและแนวทางการเกษตรที่ทันสมัยมาปรับใช้ ไม่ว่าจะในกระบวนการปลูกมันฝรั่งหรือพืชอื่นๆ ช่วยให้เกษตรกรผู้สูงอายุทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระจากการใช้แรงงานหนัก และยังคงรักษาระดับผลผลิตที่มั่นคง รวมถึงรายได้ที่ช่วยดูแลคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง
ใช้เทคโนโลยีปลูกมันฝรั่ง
อานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายเกษตรประเทศไทย เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เปิดเผยถึงความสำเร็จในการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากหลากหลายปัจจัยสำคัญ สำหรับปีนี้ สภาพอากาศที่เหมาะสมเป็นปัจจัยเสริมสำคัญที่ช่วยเพิ่มผลผลิตมันฝรั่งอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเงื่อนไขด้านอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการปลูกมันฝรั่งอยู่ที่ 24-26 องศาเซลเซียสในช่วงกลางวัน และน้อยกว่า 18 องศาเซลเซียสในช่วงกลางคืน พร้อมกับความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนที่ประมาณ 10-12 องศาเซลเซียส สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ
นอกจากปัจจัยด้านสภาพอากาศแล้ว ความสำเร็จยังมาจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาปรับใช้ในกระบวนการปลูกมันฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพของดิน การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบน้ำหยด หรือการนำเทคโนโลยีโดรนและ AI เข้ามาประเมินความสมบูรณ์ของพืช รวมถึงการตรวจสอบโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยความแม่นยำสูง ทุกขั้นตอนเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยผลักดันแนวทางการเกษตรยั่งยืน
จุดเปลี่ยน เกษตรกรไทย
"ปีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงแต่ปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย แต่ยังเป็นผลจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป๊ปซี่โคพัฒนามาใช้ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เป๊ปซี่โคในประเทศอื่นๆ อย่างอินโดนีเซีย มาดูงานจากประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังคงมุ่งมั่นผลักดันให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรไทย" อานนท์ กล่าว
อีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้อย่างมั่นคงให้กับเกษตรกรคือ การปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งเป็นการเกษตรที่ส่งเสริมความเกื้อกูลระหว่างพืช นายอานนท์เผยว่า เป๊ปซี่โค ประเทศไทย สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมันฝรั่งสลับกับข้าวโพดและข้าว โดยกระบวนการนี้ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงจากโรคพืชที่เกิดจากการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ แต่ยังช่วยฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดิน ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น รายได้หลักแบ่งออกเป็นมันฝรั่ง ข้าวโพด และข้าวตามลำดับ ซึ่งแนวทางนี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น
โรงงานใช้ทรัพยากรยั่งยืน
เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มุ่งมั่นดำเนินนโยบายที่สนับสนุนความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงาน และการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้
- Solar Rooftop: ระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคา ครอบคลุมพื้นที่อาคารในโรงงานมากกว่า 90% เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด
- Biogas: ผลิตก๊าซจากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ เพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในโรงงานอย่างยั่งยืน
- VAM System: เปลี่ยนไอน้ำจากการทอดมันฝรั่งมาเป็นพลังงานสำหรับระบบทำความเย็นในโรงงาน พร้อมนำไอน้ำที่ควบแน่นมาบำบัดและใช้ใหม่
- Recycle & Reuse Water: พัฒนาโครงการรีไซเคิลและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งบำบัดน้ำจากกระบวนการผลิตหรือใช้น้ำได้ทันที เพื่อลดการใช้น้ำใหม่และรักษาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน