อยาก "ซื้อบ้าน" สักหนึ่งหลัง ต้องเตรียม "ค่าใช้จ่าย" อะไรบ้าง ?

อยาก "ซื้อบ้าน" สักหนึ่งหลัง ต้องเตรียม "ค่าใช้จ่าย" อะไรบ้าง ?

ใครที่อยาก "ซื้อบ้าน" สักหลังต้องรู้ ควรเตรียมเงินค่าอะไรบ้าง หรือมีค่าใช้จ่ายแฝงอะไรที่ต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้การเงินไม่สะดุดกลางทาง

"คนทั่วไปมีโอกาสซื้อบ้านได้น้อยลง" แนวโน้มการ "ซื้อบ้าน" ของคนไทย ที่ถูกคำนวณมาจากค่ามัธยฐานของราคาบ้าน กับรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยแล้วที่พบว่าหาก เก็บเงินเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของรายได้เพื่อซื้อบ้าน จะใช้เวลาออมเงินประมาณ 15 ปีจึงจะซื้อบ้านได้ซักหลัง

การคำนวณของ วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFP ที่กล่าวไว้ในคอลัมน์ Money Pro เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ที่ทำให้อดตั้งคำถามต่อไม่ได้ว่า คนรุ่นใหม่ที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเองในขณะที่ค่าแรงยังยากที่จะขยับขึ้นแบบนี้ จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอะไรในรายละเอียดบ้าง ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

สิ่งที่หลายคนมักนึกถึงเวลาจะซื้อบ้านคือ ค่าผ่อนบ้าน ที่ส่วนใหญ่เป็นการขอ "สินเชื่อบ้าน" และผ่อนชำระรายเดือนยาวๆ 20 ปีขึ้นไป จนลืมคิดไปว่าไม่ใช่แค่ขอกู้ผ่านแล้วจะจบ แต่การซื้อบ้านสักหลัง จำเป็นต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นด้วย เช่น การโอน ค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนอง ค่าประกันภัย เป็นต้น

ใครที่กำลังมีแผนจะซื้อบ้านเร็วๆ นี้ เพียงเพราะเห็นโปรดีๆ ล่อตาล่อใจเหลือเกิน "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนไปดูค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องเตรียมก่อนซื้อบ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ไม่กระทบกับเงินในกระเป๋าและความสุขในภายภาคหน้า

 1. ค่าจองและทำสัญญา (ค่ามัดจำ) 

เงินจอง เป็นค่าใช้ที่จะแตกต่างกันไปแล้วแต่โครงการและผู้ขาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่หลักหมื่นบาทขึ้นไป โดยเงินส่วนนี้เป็นการรับประกันว่าเราต้องการซื้อบ้านหลังนั้นๆ หากผิดสัญญาก็อาจต้องเสียค่าปรับตามที่ตกลงกันไว้ในตอนแรก หรืออาจคืนให้ในกรณีกู้ไม่ผ่าน (แล้วแต่ตกลง)

 2. ค่าดาวน์ 

"เงินดาวน์" เป็นส่วนสำคัญที่จะลืมวางแผนไม่ได้ เพราะการซื้อบ้านจำเป็นต้องมีเงินดาวน์ราว 5-20% ของราคาบ้าน เช่น บ้านราคา 1,000,000 บาท ต้องมีเงินดาวน์ 50,000 – 200,000 บาท ซึ่งหลายกรณีก็มีให้ผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ ก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ได้ หรือที่เรียกว่า "ผ่อนดาวน์" นั่นเอง

 3. ค่าประเมินราคาเมื่อขอสินเชื่อ 

ธนาคารเรียกเก็บเงินส่วนนี้จากผู้ซื้อบ้าน เป็นค่าดำเนินการในการประเมินมูลค่าบ้าน โดยค่าประเมินราคาจะมีราคาประมาณ 1,000-3,000 บาท แล้วแต่ธนาคาร แต่ในบางครั้งอาจมีการยกเว้นค่าประเมินราคา หรือฟรีค่าประเมิน แล้วแต่โปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร

 4. ค่าจดจำนอง และค่าโอนกรรมสิทธิ์ 

ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ คือค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนกับกรมที่ดิน ซึ่งคิดเป็น 1% ของวงเงินจำนอง หรือราว 1% ของยอดกู้ เช่น ได้วงเงินกู้ 1,000,000 บาท ต้องเตรียมเงินจำนอง 10,000 บาท นอกจากนี้ จะมีค่าอากรแสตมป์ราคา 0.50% ของราคาซื้อ-ขาย ซึ่งควรเจรจากับผู้ขายและควรระบุในสัญญาจะซื้อจะขายให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าโอนส่วนนี้ 

ส่วนกรมที่ดินคิดค่าจดทะเบียนสิทธิ์ 2% จากราคาประเมิน และสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ผู้ซื้อกับผู้ขายควรตกลงว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะแบ่งกันรับผิดชอบฝ่ายละ 1%

อยาก \"ซื้อบ้าน\" สักหนึ่งหลัง ต้องเตรียม \"ค่าใช้จ่าย\" อะไรบ้าง ?

 5. ค่าเบี้ยประกันภัยบ้าน 

อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่หลายคนไม่รู้หรือลืมนึกถึง คือ "ค่าประกันภัยบ้าน" ซึ่งเมื่อขอสินเชื่อบ้านแล้ว จะต้องทำประกันวินาศภัยหรืออัคคีภัยตามกฎหมาย ซึ่งเบี้ยประกันมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมูลค่าบ้าน โดยบ้านราคาสูงค่าเบี้ยประกันก็จะสูงกว่า ทั้งนี้เบี้ยประกันจะเฉลี่ยราว 1,000 บาทต่อปี หรือมากกว่านั้น โดยสำหรับบางธนาคารอาจเรียกเก็บพร้อมค่าผ่อนบ้านรายเดือน

 6. ค่ามิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า 

สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านส่วนนี้ จะแตกต่างกันไปตามบ้านแต่ละประเภทโดยขึ้นอยู่กับมาตรวัด ขนาดมิเตอร์ และจำนวนกระแสน้ำ-ไฟที่ปล่อยได้ อาจมีได้ทั้งค่าติดตั้งมิเตอร์ ค่าประกันมิเตอร์ และค่าประกันการใช้น้ำ-ไฟฟ้า เมื่อรวมกันทั้งหมดจะอยู่ในช่วงหลักพันถึงหลักหมื่น

ค่าติดตั้งมิเตอร์ ค่าประกันมิเตอร์ ค่าประกันการใช้น้ำ-ไฟฟ้า รวมกันประมาณหลักพันถึงหลักหมื่น ตามประเภทบ้าน

 7. ค่าส่วนกลาง (ถ้ามี) 

ส่วนใหญ่โครงการบ้านจัดสรรจะมีการเรียกเก็บค่าส่วนกลาง โดยมีเกณฑ์เก็บตามขนาดพื้นที่ เพื่อนำไปใช้สำหรับบริหาร ปรับปรุง และพัฒนาโครงการ เช่น ค่าระบบรักษาความปลอดภัย ค่าบำรุงรักษาสินทรัพย์ในโครงการ เป็นต้น 

 8. งบตกแต่งบ้าน 

อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่ทำให้คนซื้อบ้านเสียเงินแบบบานปลาย คือค่าเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงค่าตกแต่งบ้าน เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้บานปลายจนคุมงบไม่อยู่ อย่าลืมวางแผนให้รอบคอบเพื่อให้ไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ 

 9. เงินผ่อน 

จุดที่สำคัญที่สุด ที่คนซื้อบ้านต้องวางแผนให้ดี คือ "เงินผ่อน" ในแต่ละเดือน ซึ่งจะมากน้อยขึ้นอยู่กับราคาบ้าน ระยะเวลาผ่อน และดอกเบี้ย เช่น บ้าน 1,000,000 บาท หากผ่อนราว 20-30 ปี ค่างวดมักจะอยู่ประมาณ 8,000-9,500 บาท ซึ่งค่างวดในการผ่อนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพราะต้องผ่อนในระยะยาว 

ทั้งนี้ สำหรับมือใหม่หัดผ่อนบ้านอาจเลือกใช้ทริค “ซ้อมผ่อนบ้าน” (เก็บเงินเท่าราคาผ่อน) อย่างน้อย 6 เดือนก่อนซื้อ ให้มั่นใจว่าสามารถผ่อนต่อเนื่องได้ 20-30 ปี และสามารถใช้เงินส่วนนี้สำรองไว้ผ่อนในกรณีที่ขาดรายได้กะทันหันอีกด้วย

----------------------------------------------

อ้างอิง: ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารไทยพาณิชย์, กรุงเทพธุรกิจ