“หุ้นไทย” ปิดตลาดลบ 4.60 จุด DELTA และ MAKRO ฉุดดัชนี
“ตลาดหุ้นไทย” ปิดตลาดวันนี้อยู่ที่ 1,664.57 จุด ลดลง 4.60 จุด หรือ 0.28% “บล.หยวนต้า” ชี้ สัปดาห์หน้าต้องจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ และจีดีพีไตรมาส 4 ของไทย ด้าน DELTA และ MAKRO ดึงดัชนีลงรวม 3 จุด
ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาด “หุ้นไทย” วันนี้ผันผวนในทิศทางปรับตัวลดลงทั้งวัน ซึ่งดัชนีทำจุดต่ำสุดอยู่ที่ 1,660.10 จุด ก่อนมาปิดตลาดที่ 1,664.57 จุด ลดลง 4.60 จุด หรือ 0.28% มูลค่าซื้อขาย 58,917.38 ล้านบาท
หุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
1. PANPU มูลค่า 4,216.43 ล้านบาท ราคาหุ้นปิดที่ 10.90 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาปิดก่อนหน้า
2. ADVANC มูลค่า 3,282.03 ล้านบาท ราคาหุ้นปิดที่ 206 บาท เพิ่มขึ้น 6.50 บาท หรือ 3.26%
3. SCB มูลค่า 2,971.18 ล้านบาท ราคาหุ้นปิดที่ 100.50 บาท ลดลง 3 บาท หรือ 2.90%
4. BBL มูลค่า 2,870.47 ล้านบาท ราคาหุ้นปิดที่ 164 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาท หรือ 1.86%
5. KBANK มูลค่า 2,537.55 ล้านบาท ราคาหุ้นปิดที่ 143 บาท ลดลง 1.50 บาท หรือ 1.04%
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า วันนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อ เนื่องจากแรงเทขายหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA จนดึงดัชนีลง 2 จุด ประกอบกับนักลงทุนผิดหวังหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ที่ไม่เข้าดัชนี MSCI จนมีผลดึงดัชนีลง 1 จุด ทั้งนี้หากตัดปัจจัยเชิงลบจาก DELTA และ MAKRO ออกไปวันนี้ดัชนีหุ้นไทยอาจแกว่งในลักษณะทรงตัว
“ประเด็นที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยยังไม่ไปไหน นอกจาก DELTA และ MAKRO แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียไม่ค่อยสดใสมากนักเนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลงเพราะตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอาจทรงตัวในระดับสูงอีกระยะ จึงทำให้บอนด์ยีลด์ดีดตัวขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นในภาพรวม”
ด้าน BANPU เปิดตลาดในแดนบวกช่วงเช้า จากนั้นเคลื่อนไหวในลักษณะทรงตัวเพราะ MSCI จะปรับน้ำหนักการลงทุนวันที่ 28 ก.พ. จึงอาจยังไม่ได้รับอานิสงส์เชิงบวกมากนัก ประกอบกับบริษัท ได้รับแรงกดดันจากราคาถ่านหิน และราคาแก๊สธรรมชาติที่ปรับตัวลง โดยเฉพาะราคาถ่านหินที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยทั้งหมดจึงทำให้ BANPU ยังไม่สามารถช่วยดึงดัชนีขึ้นได้
สำหรับต้นสัปดาห์หน้า ดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจเคลื่อนไหวในกรอบแนวรับ 1,650 จุด และแนวต้าน 1,680 จุด เนื่องจาก 4 ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 4 ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่จะประกาศวันศุกร์หน้า และตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่จะประกาศในวันอังคารหน้า
“หากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่จะประกาศในวันอังคาร ที่ 14 ก.พ. ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ก็จะส่งผลกระทบอีกทอดหนึ่งให้บอนด์ยีลด์ย่อตัว และจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อตลาดในช่วงสัปดาห์หน้าซึ่งฟันด์โฟลว์อาจไหลกลับประเทศไทย ประกอบกับถ้าตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ของไทยสดใสก็จะยิ่งส่งเสริมให้หุ้นไทยอาจรีบาวด์ได้”
สำหรับคำแนะนำในการลงทุนต้นสัปดาห์หน้าควรพิจารณาหน้าหุ้นที่อาจมีผลประกอบการไตรมาส 4 ดี และมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็น ADVANC (แนวต้าน 210 บาท) CPALL (แนวต้าน 68 บาท) และ BJC (แนวต้าน 39.5 บาท)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์