สรุปบทเรียน ‘แบงก์สหรัฐล้ม’ จาก SVB สู่ Signature Bank ส่อสะเทือนโลก!?

สรุปบทเรียน ‘แบงก์สหรัฐล้ม’ จาก SVB สู่ Signature Bank ส่อสะเทือนโลก!?

จากกรณีธนาคารสหรัฐล้มกะทันหัน อย่างธนาคาร Signature Bank และธนาคาร Silicon Valley หรือ SVB ล้ม กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจทั้งโลก การล้มของ 2 ธนาคารรายใหญ่ครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และทางการสหรัฐแก้ปัญหาอย่างไรในการสกัดไฟที่กำลังลุกลามนี้

Key Points

  • การขึ้นดอกเบี้ยแรงของเฟด ทำให้บรรดา Startup ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของธนาคาร SVB ประสบปัญหาทางการเงิน จึงต้องถอนเงินฝากจากธนาคาร SVB จำนวนมาก
  • Moody’s และ S&P Global ประกาศลดความน่าเชื่อถือธนาคาร SVB ลง โดย S&P Global ลดความน่าเชื่อถือธนาคารนี้ลงเหลือ “ระดับขยะ”
  • ต่อมา สหรัฐสั่งปิดธนาคาร Signature Bank เพื่อยับยั้งความโกลาหล โดย Signature Bank เป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ที่ล้มในประวัติศาสตร์แบงก์สหรัฐ

กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อธนาคารสหรัฐ 2 แห่ง Silicon Valley และ Signature Bank ปิดตัวลง ก่อกระแสความวิตกไปทั่วสหรัฐ และทั่วโลกว่า ธนาคารอันเป็นสถาบันที่แข็งแกร่ง และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนยิ่งกว่าบริษัทเอกชน เกิดล้มลงติด ๆ กันได้อย่างไร

 

  • เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็ว ตัวจุดชนวน?

ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่รุนแรงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และรวดเร็วจาก 0.25% ไปที่ 4.75% ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อปราบเงินเฟ้อ และขณะเดียวกันก็เพิ่มต้นทุนทางการเงินด้วย

สิ่งนี้ส่งผลให้บริษัทที่ต้องใช้เงินลงทุนที่มาก และต้องเร่งขยายตลาด อย่าง Startup และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ซึ่งเป็น “ลูกค้าหลัก” ธนาคาร Silicon Valley หรือธนาคาร SVB ประสบปัญหาทางการเงิน ระดมทุนลำบาก จึงเลือกถอนเงินฝากจากธนาคาร SVB จำนวนมาก

 

สรุปบทเรียน ‘แบงก์สหรัฐล้ม’ จาก SVB สู่ Signature Bank ส่อสะเทือนโลก!?

- เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด (เครดิต: AFP) -

 

  • เมื่อ SVB ขาดสภาพคล่องด้วย

การเข้าถอนเงินของบริษัท Startup จำนวนมาก ทำให้ธนาคาร SVB ขาดสภาพคล่อง เพราะเงินสำรองของธนาคารจำนวนมากอยู่ใน “พันธบัตรระยะยาว” 

ดังนั้น “เพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระเงินฝากลูกค้า” ธนาคารจึงจำเป็นต้องขายขาดทุนพอร์ตพันธบัตรระยะยาวออกไป 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ รับรู้ขาดทุนจริงทันที 1.8 พันล้านดอลลาร์!

หากไม่ขาดสภาพคล่องเช่นนี้ ธนาคารสามารถถือพันธบัตรดังกล่าวไปจนครบกำหนดอายุ รับเงินต้นเต็มจำนวน ไม่ต้องประสบผลขาดทุน

 

  • ความเชื่อมั่นดิ่ง หลัง SVB ขาดทุน

การขาดทุนเช่นนี้ ทำให้ส่วนของ “ทุน” ธนาคารลดลง จึงจำเป็นต้องเพิ่มทุนอีก 2.25 พันล้านดอลลาร์ผ่านการประกาศขายหุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพ

ผลปรากฏว่า ผู้ลงทุน และลูกค้าธนาคารตกใจกับการขาดทุนที่มากของธนาคารเช่นนี้ 

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือการเงิน Moody’s และ S&P Global ประกาศลดความน่าเชื่อถือธนาคาร SVB ลง โดย Moody’s ลดความน่าเชื่อถือธนาคารนี้จาก Baa1 ลงเหลือ C และ S&P Global ลดความน่าเชื่อถือธนาคารนี้ลงเหลือ “ระดับขยะ”

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดความกังวลในกลุ่มภาคธุรกิจว่า เงินฝากในส่วนที่มากกว่า 250,000 ดอลลาร์จะสูญหายไป เพราะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเงินฝากในสหรัฐ

 

สรุปบทเรียน ‘แบงก์สหรัฐล้ม’ จาก SVB สู่ Signature Bank ส่อสะเทือนโลก!?

- ธนาคาร Silicon Valley (เครดิต: AFP)-

 

  • ปรากฏการณ์ Bank Run เมื่อผู้คนแห่ถอนเงินแบงก์

ภาวะขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตร และการถูกลดความน่าเชื่อถือลงของธนาคาร SVB ทำให้แผนเพิ่มทุนดังกล่าวต้องพังทลายลง เพราะเกิดปรากฏการณ์ “Bank Run” ที่ประชาชนและภาคธุรกิจแห่ถอนเงินฝากกว่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ จนเงินฝากติดลบ!

นอกจากนี้ นักลงทุนยังตื่นตระหนก เทขายหุ้นธนาคาร SVB ตาม ส่งผลให้ราคาหุ้น SVB ร่วงลงกว่า 80% และยังทำให้ราคาหุ้นธนาคารสหรัฐอื่น ๆ ปรับตัวลงตามด้วย

 

  • ไฟกำลังลามมาที่ภาคคริปโทฯ

ผลกระทบดังกล่าวยังลุกลามสู่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี จนเหรียญ Stable Coin ที่ชื่อ USDC ของบริษัท Circle หลุดการตรึงมูลค่าจาก 1 ดอลลาร์ ลงเหลือ 0.92 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะทุนสำรองของบริษัทฝากไว้ที่ธนาคาร SVB ราว 8% หรือจำนวน 3.3 พันล้านดอลลาร์ เกรงว่าจะไม่ได้รับคืน

สภาพคล่องธนาคาร SVB ขณะนี้กำลังย่ำแย่ จากการตื่นตระหนกของลูกค้า และนักลงทุน ยิ่งทำให้โอกาสชำระหนี้ของธนาคารลดลงไปอีก

 

  • สหรัฐยื่นมือช่วยธนาคารที่กำลังจมน้ำ

วันที่ 10 มี.ค. 2566 ทางการสหรัฐอย่างหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากธนาคาร (FDIC) ได้ตัดสินใจเด็ดขาด ปิดกิจการธนาคาร SVB และเข้าควบคุมสินทรัพย์ SVB ด้วย อีกทั้งกำลังประสานนักลงทุนเทวดา (Angel Investor) ที่จะช่วยเหลือสภาพคล่องธนาคาร SVB

ขณะเดียวกันต้องจับตาเฟดที่เตรียมจัดประชุมฉุกเฉินในวันที่ 13 มี.ค. ตามเวลาสหรัฐ

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. เฟด (FED) หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากธนาคาร (FDIC) และกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วม ประกาศคุ้มครองเงินฝากลูกค้าธนาคาร SVB และธนาคารพาณิชย์อีกรายอย่าง Signature Bank “เต็มจำนวน” ไม่จำกัดเพียง 250,000 ดอลลาร์อีกต่อไป เพื่อลดความตื่นตระหนกแห่ถอนเงิน และฟื้นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ Signature Bank เป็นธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี และได้รับผลกระทบหนักหลังจากวิกฤติแบงก์ล้มในสหรัฐขยายวงสู่อุตสาหกรรมคริปโทฯ

นอกจากนี้ เฟดยังประกาศตั้งโครงการ Bank Term Funding Program มูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยธนาคารที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง สามารถนำพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ตราสาร MBS และสินทรัพย์มีคุณภาพอื่น ๆ มาค้ำที่ราคาต้นทุน (Par Value) เพื่อยื่นขอเงินกู้จากโครงการได้ ไม่ต้องเสี่ยงขายขาดทุนเหมือนธนาคาร SVB อีก

ขณะเดียวกัน ทางการสหรัฐยังประกาศสั่งปิดธนาคาร Signature Bank ที่มีสำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์กเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งความโกลาหล นับเป็นธนาคารแห่งที่สองที่ถูกสหรัฐสั่งปิดในช่วงไม่กี่วันหลังสุด

ในประวัติศาสตร์ธนาคารล้มของสหรัฐ Signature Bank ถือเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ตามมูลค่าทรัพย์สินที่ล้ม คือ 1.18 แสนล้านดอลลาร์ รองจาก SVB อันดับ 2 ที่ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ และธนาคาร Washington Mutual อันดับ 1 ที่ 3.07 แสนล้านดอลลาร์ ที่ล้มในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551

 

สรุปบทเรียน ‘แบงก์สหรัฐล้ม’ จาก SVB สู่ Signature Bank ส่อสะเทือนโลก!?

-การล้มของธนาคารสหรัฐ Signature Bank (เครดิต: AFP)-

 

  • ความเชื่อมั่นตลาดสหรัฐกำลังกลับมา

ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ คริปโทเคอร์เรนซี และทองคำปรับตัวบวกในวันนี้ (13 มี.ค.) โดยดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งถึง 400 จุด และบิตคอยน์พุ่ง 10% ตอบรับการเข้าช่วยเหลือของทางการสหรัฐ

ขณะที่สถาบันการเงิน Goldman Sachs มองว่า เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนนี้ เพื่อชะลอความเสี่ยงด้านหนี้ของสหรัฐออกไปก่อน 

อีกปัจจัยที่น่าจับตาคือ การออกแถลงการณ์พิเศษในช่วงค่ำวันนี้ตามเวลาไทยของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ต่อกรณีการล้มของธนาคารสหรัฐทั้งสองแห่งนี้

จากสถานการณ์ธนาคารพาณิชย์สหรัฐล้มครืน โดยเฉพาะ SVB อาจสรุปได้ว่า เกิดจากการขาดสภาพคล่องของลูกค้าธนาคารอย่าง Startup จนนำมาสู่การขาดสภาพคล่องของธนาคารตามมา เพราะเงินที่ต้องนำมาจ่ายเงินฝากลูกค้ากลับอยู่ในพันธบัตรระยะยาว ที่ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ 

ธนาคารจึงจำต้องขายพันธบัตรขาดทุน เพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้ แต่กลับมีผลกระทบความเชื่อมั่นตามมา เมื่อลูกค้ารับรู้ผลขาดทุนที่สูง 

นอกจากนั้น การแห่ถอนเงินฝากและเทขายหุ้นธนาคาร SVB จึงทำให้เงินฝากธนาคารนี้ติดลบ ล้มครืนลงในที่สุด นี่อาจเป็นอุทาหรณ์ได้ว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เช่นนี้ การมี “กระแสเงินสด” ที่สามารถดึงออกมาใช้งานได้ทันทีและมากเพียงพอ โดยไม่ต้องรอระยะเวลาหรือขายขาดทุน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการอยู่รอดของภาคธุรกิจ

 

สรุปบทเรียน ‘แบงก์สหรัฐล้ม’ จาก SVB สู่ Signature Bank ส่อสะเทือนโลก!?

 

อ้างอิง: cnbc bloomberg fdic nytimes