นักลงทุนต่างชาติแห่เข้ามา น่าเสียดายประเทศไทยยังไม่พร้อม
แม้จะผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่การการลงทุนจากต่างชาติในประเทศยังมีเกิดขึ้นน้อยมาก หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น เวียดนาม และ มาเลเซีย แม้ว่าจะมีการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ในไทยก็ตาม
หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้การค้าและการลงทุนหดตัวอย่างมาก รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของประเทศไทยที่หดตัวลงในช่วงวิกฤติโควิด-19 และเป็นข้ออ้างของรัฐบาลที่ยกขึ้นมาชี้แจงเมื่อไทยไม่สามารถดึงการลงทุนเข้ามาได้ หลังจากที่หลายประเทศในอาเซียนต่างทยอยประกาศดึงการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศไทยด้วยเหมือนกัน
หากหันไปมองประเทศในอาเซียนถึงแม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงทำหน้าที่ดึงการลงทุนอย่างเข้มแข็ง โดยซัมซุงได้ตัดสินใจการลงทุนครั้งใหญ่ลงไปที่ประเทศเวียดนาม หลังจากที่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามพูดคุยหารือหลายรอบ พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับโจทย์ที่เป็นอุปสรรคการลงทุนของซัมซุง จนทำให้ซัมซุงมีความเชื่อมั่นและตัดสินใจเพิ่มการลงทุน 20,000 ล้านดอลลาร์จากเดิม 18,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
หันมาดูประเทศมาเลเซียที่ออกมารายงานข้อมูลล่าสุดว่าเอฟดีไอของปี 2565 มีมูลค่าถึง 74,600 ล้านริงกิต ถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2564 หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รายงานว่า เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนที่เป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ชั้นนำสำหรับการลงทุน จากปัจจัยดังกล่าวทำให้เห็นว่ามาเลเซียพร้อมแล้วสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อก้าวข้ามผลกระทบโควิด-19
ล่าสุดประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention - WCEC) ครั้งที่ 16 เป็นความพยายามของภาคเอกชนโดยหอการค้าไทย-จีน โดยนักธุรกิจจีนที่อยู่ทั่วโลกพร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุน และเป็นจังหวะที่ดีที่ภาคเอกชนไทยดึงเข้ามาจัดงานในได้ เพราะเป็นการกลับมาจัดอีกครั้งหลังจากหยุดไปในช่วงที่มีโควิด-19 แต่น่าเสียดายว่างานใหญ่มาจัดช่วงรอยต่อรัฐบาลไทยที่กลไกรัฐแทบจะหยุดนิ่ง และการจัดตั้งรัฐบาลก็ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะจัดตั้งได้เรียบร้อยหรือไม่
ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมเพื่อชักจูงการลงทุนในระดับรัฐบาลไม่มาก และการสนับสนุนนโยบายด้านการลงทุนมีเบาบางลง เห็นได้จากการรับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ในช่วง 4 ปี ที่ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นที่น่าเสียดายว่านักธุรกิจต่างชาติต้องมาเห็นความไม่พร้อมของประเทศไทย ทั้งที่เคยวาดฝันให้ EEC เป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงการลงทุนเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศ