ทำความรู้จัก ‘หุ้นกู้’ คืออะไร การลงทุนในหุ้นกู้มีข้อดี - ข้อเสียอย่างไร
ปัจจุบัน “หุ้นกู้” กำลังเป็นที่นิยมสำหรับบรรดาบริษัทเอกชนที่ต้องการเงินทุน แต่ไม่ต้องการกู้ธนาคารเพิ่ม จึงเลือกออกหุ้นกู้แทน แล้วหุ้นกู้หมายถึงอะไร มีกี่ประเภท และการลงทุนในหุ้นกู้มีข้อดี - ข้อเสียอย่างไรบ้าง
Key Points
- หุ้นกู้ เป็นหนึ่งในวิธีระดมทุนของบริษัทเอกชน โดยผู้ซื้อหุ้นกู้ มีสถานะ “เจ้าหนี้” และผู้ออกหุ้นกู้ (บริษัท) มีสถานะ “ลูกหนี้”
- หุ้นกู้สามารถซื้อขายได้ในตลาด Bond Electronic Exchange (BEX) ซึ่งจัดตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันครบกำหนดอายุ
- สิ่งสำคัญของการลงทุนหุ้นกู้คือ “ความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้” รวมถึงจำเป็นต้องติดตามผลประกอบการของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้อยู่เสมอ
ปกติแล้ว เมื่อบริษัทเอกชนต้องการเงินทุนเพิ่มเติม สามารถดำเนินการได้ 2 วิธี คือ กู้ หรือ เพิ่มทุน สำหรับ “การเพิ่มทุน” นั้น แม้บริษัทไม่ต้องมีภาระหนี้เพิ่ม แต่ก็เป็นการรบกวนผู้ถือหุ้นที่จะต้องออกทุนเพิ่ม เพื่อแลกกับหุ้นที่ถืออยู่ไม่ถูกลดมูลค่าลง (Dilution Effect)
ส่วน “การกู้เงิน” ไม่รบกวนผู้ถือหุ้น แต่เป็นการสร้างภาระหนี้ในระยะยาว ซึ่งการกู้เงินจากธนาคารมีระดับเพดานที่สามารถกู้ได้ และมีเงื่อนไขหลายขั้นตอน ดังนั้น บรรดาบริษัทเอกชนอาจหาทางเลือกการกู้เพิ่มเติมที่อาจอิสระกว่าด้วยการ “ออกหุ้นกู้” แทน
- หุ้นกู้คืออะไร
หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ ที่ออกโดยบริษัทเอกชน สำหรับการระดมทุนจากนักลงทุน เพื่อการขยายกิจการอย่างการซื้อเครื่องจักรเพิ่มหรือสร้างโรงงานใหม่ ฯลฯ โดยผู้ซื้อหุ้นกู้ มีสถานะ “เจ้าหนี้” และผู้ออกหุ้นกู้ มีสถานะ “ลูกหนี้”
สำหรับหุ้นกู้ของแต่ละบริษัท มีระยะเวลาแตกต่างกันตั้งแต่ 3 ปีไปจนถึง 10 ปี และให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยราว 3% 5% 10% ฯลฯ ที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร
- ประเภทของหุ้นกู้
สำหรับประเภทหุ้นกู้ที่น่าสนใจในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ หมายถึง ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้มีสิทธิเรียกร้องสินทรัพย์อยู่ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญ
2. หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ หมายถึง ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้มีสิทธิเรียกร้องสินทรัพย์อยู่ในอันดับที่สูงกว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ
3. หุ้นกู้แปลงสภาพ หมายถึง นักลงทุนสามารถเปลี่ยนจากหุ้นกู้ประเภทนี้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ตามราคาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้สถานะนักลงทุนเปลี่ยนจากเจ้าหนี้เป็นเจ้าของแทน
4. หุ้นกู้ชนิดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันคือ หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใดๆ วางไว้เป็นประกันในการออก ซึ่งเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย ต้องทำการแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วน
5. หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกันคือ หุ้นกู้ที่บริษัทผู้ออกนำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหุ้นกู้ และผู้ถือจะมีสิทธิเต็มที่ในสินทรัพย์ที่วางเป็นประกันนั้นสูงกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ
- ข้อดีของหุ้นกู้
1. ได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน เนื่องจากบริษัทเอกชนจะให้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่สูงกว่า เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้หันมาซื้อหุ้นกู้แทนการฝากธนาคาร
2. สามารถซื้อขายหุ้นกู้ได้ในตลาดรอง อย่างตลาดตราสารหนี้ Bond Electronic Exchange (BEX) ซึ่งจัดตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันครบกำหนดอายุ
3. มีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้น และจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ อีกทั้งระหว่างการรอครบกำหนดอายุ ก็มีการจ่ายดอกเบี้ยให้เป็นระยะด้วย
- ข้อด้อยของหุ้นกู้
1. ความเสี่ยงด้านบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ หากบริษัทนั้นประสบปัญหาทางการเงิน ก็อาจทำให้ความน่าเชื่อถือในหุ้นกู้ถูกลดอันดับ ไปจนถึงเงินต้นของการลงทุนหุ้นกู้อาจไม่ได้รับคืน อย่างกรณีบริษัทผลิตสายไฟ STARK
2. สภาพคล่องในการแลกเปลี่ยนมือที่น้อยของหุ้นกู้ แม้ว่าหุ้นกู้จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากธนาคาร และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการเล่นหุ้น แต่สภาพคล่องการซื้อขายหุ้นกู้กลับน้อยกว่าการถอนเงินฝาก และซื้อขายหุ้น
3. ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย เมื่ออัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดขาขึ้น จะทำให้หุ้นกู้ที่ออกใหม่ให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ที่เราเคยซื้อ ดังนั้น เมื่อเราจะขายหุ้นกู้ที่เราถือก่อนครบกำหนดให้ผู้อื่น จึงจำเป็นต้องลดราคาหุ้นกู้นี้เพื่อชดเชยดอกเบี้ยที่น้อยกว่าหุ้นกู้ชุดใหม่
สำหรับการลงทุนหุ้นกู้นั้น สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนคือ “ความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้” รวมถึงจำเป็นต้องติดตามผลประกอบการของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้อยู่เสมอ เพราะแม้ในสัญญาหุ้นกู้จะระบุวันไถ่ถอนรับเงินต้นไว้ชัดเจน แต่หากบริษัทนั้นมีผลประกอบการย่ำแย่ ก็อาจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ได้ รวมถึงเงินที่ซื้อหุ้นกู้ควรเป็น “เงินเย็น” ที่สามารถตั้งทิ้งไว้หลายปีจนถึงวันไถ่ถอนโดยไม่เดือดร้อน
อ้างอิง: set, setinvestnow
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์