'อินโดนีเซีย'ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 เดือน พยุงค่าเงินจากพิษสงคราม
อินโดนีเซียทำเซอร์ไพรส์ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 เดือน แตะระดับ 6% หวังชะลอทุนไหลออก ช่วยพยุงค่าเงินรูเปียห์ หลังสงครามอิสราเอลยิ่งดึงเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง
ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศขึ้นดอกเบี้ยแบบเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วัน อีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 6% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019
บลูมเบิร์กระบุว่านี่เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 เดือนของอินโดนีเซีย นับตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีนี้ เพื่อหวังพยุงค่าเงินรูเปียห์ หลังจากสงครามในอิสราเอลยิ่งเพิ่มปัจจัยลบให้กับสินทรัพย์เสี่ยง และยังกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย
เพอร์รี วาจิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินทั่วโลกทำให้จำเป็นต้องออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นมารับมือกับผลกระทบ โดยความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและนานขึ้นในสหรัฐ อาจทำให้ภาวะเงินทุนไหลออกยังเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 4
ดังนั้น แบงก์ชาติจึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินรูเปียห์ท่ามกลางความผันผวนที่สูงขึ้นในตลาดโลก และยังถือเป็นมาตรการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
ทางด้านค่าเงินรูเปียห์ดีดตัวขึ้นมาจนอ่อนค่าน้อยลงกว่าเดิม โดยอ่อนค่า 0.5% อยู่ที่ 15,815 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ขณะที่บอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี ปรับตัวขึ้น 0.09% และดัชนีตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียปรับตัวลง 1.2%
ทางด้านค่าเงินรูเปียห์ดีดตัวขึ้นมาจนอ่อนค่าน้อยลงกว่าเดิม โดยอ่อนค่า 0.5% อยู่ที่ 15,815 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ขณะที่บอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี ปรับตัวขึ้น 0.09% และดัชนีตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียปรับตัวลง 1.2%
ก่อนหน้านี้จนถึงช่วงต้นเดือน ต.ค. ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย เป็นสกุลเงินในเอเชียเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถแข็งค่าขึ้นได้เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มเปลี่ยนไป และทำให้ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงมาแล้วประมาณ 1% ในปีนี้ ขณะที่เงินวอน เกาหลีใต้ อ่อนค่าลงไปแล้วมากกว่า 5% และค่าเงินบาทของไทย เกือบ 5%