สื่อนอกเผย 'ไทย' ตุน 'ทองคำ' เพิ่ม 2 เท่าใน 3 ปี รับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ป่วน
รองผู้ว่าแบงก์ชาติเผยกับบลูมเบิร์ก “ไทย” ตุนทองคำสำรองเพิ่ม 2 เท่าเป็นกว่า 500,000 ล้านบาทใน 3 ปี ชี้เป็น “เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง” ช่วงเงินเฟ้อสูงและความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ขยายวง
นางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อไม่นานนี้ว่า ธปท.ยังมอง “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำคัญ ซึ่งช่วยป้องกันทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีอยู่ 2.1 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 7.5 ล้านล้านบาท) จากความผันผวนในตลาดช่วงอัตราเงินเฟ้อสูงและความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ขยายวงมากขึ้น
- นางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงินของ ธปท. -
รองผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า แบงก์ชาติได้เพิ่มการถือครองทองคำสำรองตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อบริหารความเสี่ยงในสัดส่วนการลงทุนของ ธปท.
อย่างไรก็ตาม แม้นางอลิศราไม่ได้เปิดเผยตัวเลขซื้อทองคำอย่างเป็นทางการของ ธปท. แต่ข้อมูลแบงก์ชาติระบุว่ามูลค่าทองคำสำรองของไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2562
นอกจาก ธปท.แล้ว ยังมีธนาคารกลางอีกหลายประเทศที่สนใจในทองคำ เช่น จีน โปแลนด์ และตุรกี ซึ่งต่างเพิ่มการถือครองทองคำสำรองของตน เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ ทองคำกลายเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่โดดเด่นที่สุด นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ราคาทองคำพุ่งราว 9% หลังจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น
สำหรับ ธปท. การกระจายความเสี่ยงเงินทุนสำรองกลายเป็นเรื่องที่จำเป็นมากขึ้น หลังจากที่มูลค่าเงินคงคลังของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกถือในรูปเงินตราต่างประเทศ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และเงินดอลลาร์ ร่วงลงราว 47,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 258,000 ล้านดอลลาร์ในเดือน ธ.ค.2563
นอกจากนั้น การที่เงินบาทอ่อนค่าลง 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน และความพยายามของ ธปท.เพื่อบรรเทาการอ่อนค่าของเงินบาท ยังทำให้เงินคลังสำรองของแบงก์ชาติร่อยหรอลงเช่นกัน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ ธปท. ระบุว่า มูลค่าทองคำสำรองของ ธปท.อยู่ที่ 15,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 565,000 ล้านบาท นับถึงวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 7,500 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 270,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562
“การกระจายสินทรัพย์มีความท้าทายมากขึ้น เราจำเป็นต้องสร้างสัดส่วนการลงทุนที่ยืดหยุ่นต่อสภาวะช็อกในตลาดและความเปลี่ยนแปลงที่อยู่รอบตัวเรา ดังนั้น การกระจายความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ” นางอลิศรา รองผู้ว่าการ ธปท.เผยกับบลูมเบิร์ก
อ้างอิง: Bloomberg