นักลงทุนเดิมพัน 'หุ้นญี่ปุ่น' ไปต่อ แม้ BOJ เตรียมยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบ

นักลงทุนเดิมพัน 'หุ้นญี่ปุ่น' ไปต่อ แม้ BOJ เตรียมยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบ

บรรดาผู้จัดการกองทุนต่างกำลังให้ความสนใจหุ้นญี่ปุ่น โดยคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มสดใส สะท้อนจากการเพิ่มการชอร์ตพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเชื่อว่าพันธบัตรจะมีมูลค่าลดลงและคาดการณ์ว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้น ก่อนการสิ้นสุดญี่ปุ่นในยุค"ดอกเบี้ยติดลบ"

KEY

POINTS

  • นักลงทุนคาด BOJ จะยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของ BOJ อาจปรับขึ้นไปแตะระดับ 0.25% ในปลายปี 2567
  • นักลงทุนสถาบันมองว่า ค่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้น ตลาดหุ้นจะยังไปได้ต่อ ส่วนพันธบัตรปรับตัวลดลง โดย BlackRock และ Man Group Plc. มองว่า หุ้นญี่ปุ่นยังมีโอกาสเติบโตต่อแม้ทำ ATH ไปแล้ว
  • ภายในปีหน้าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นประมาณ 8-10% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ 

 

หลังจากที่มีสัญญาณว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative rates) ที่มีมานานถึง 8 ปีลง แน่นอนว่าการตัดสินใจของ BOJ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น พันธบัตร และค่าเงินเยน ท่ามกลางความสนใจของนักลงทุนว่า หุ้นญี่ปุ่นที่ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-time high) เมื่อต้นเดือน มี.ค.นี้ จะยังมีแรงไปต่อหลังการขึ้นดอกเบี้ยได้หรือไม่ และสินทรัพย์อื่นๆ จะยังมีโอกาสทำกำไรได้มากแค่ไหน

การเดิมพันครั้งใหญ่ของนักลงทุนสถาบัน

กลุ่มบลจ.ที่มองเห็นโอกาสทำกำไรในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เมื่อเศรษฐกิจกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

  • BlackRock และ Man Group Plc. มองว่า หุ้นญี่ปุ่นยังมีโอกาสเติบโต
  • RBC BlueBay Asset Management สวมชอร์ต (เดิมพันว่าราคาจะลดลง) พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี
  • Abrdn plc (อเบอร์ดีน) และ Robeco คาดการณ์ว่า เงินเยนจะแข็งค่าขึ้น

BlackRock มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดหุ้นและปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความหลากหลาย มั่นคง

“นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญ” หยู แบมบา หัวหน้าฝ่ายการลงทุนเชิงรุกของ BlackRock คาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างช้าๆ ส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินยังคงเอื้ออำนวยต่อตลาดหุ้น

แนวโน้มของนโยบายการเงินจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการไหลเวียนของเงินทุนในอนาคต หลังจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลเข้าสู่ตลาดในช่วงปีที่ผ่านมา

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจปรับขึ้นไปแตะระดับ 0.25% ในปลายปี 2567 จากเดิมที่ติดลบ 0.1% ตามที่สัญญาแลกเปลี่ยนดอกเบี้ยอ้างอิงแบบข้ามคืน (overnight-indexed swaps) บ่งชี้

นักลงทุนซื้อต่อแม้ตลาด All-time high

ดัชนี Nikkei 225 พุ่งทะยานแตะ 40,000 จุด เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้โมเมนตัมการขึ้นจะชะลอตัวลงบ้าง แต่การปรับฐานเล็กน้อยนี้ ไม่สามารถหยุดนักลงทุนได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนเลือกหุ้นอย่างละเอียดมากขึ้น

มิจิโกะ ซากาอิ ผู้จัดการกองทุน JPMorgan Asset Management ในโตเกียวกล่าวว่า กำลังเลือกลงทุนในบริษัทประกันภัยมากกว่าธนาคาร เนื่องด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าและการปฏิรูปการกำกับดูแลที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

“หากธนาคารกลางญี่ปุ่น ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สถาบันการเงินเหล่านี้ก็จะปรับตัวไปในทางที่ดี”

ดัชนีหุ้นธนาคารใน Topix เพิ่มขึ้นราว 75% นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 หลัง BOJ สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน

นักลงทุนมองว่า นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจะช่วยกระตุ้นผลกำไรของธนาคาร ซึ่งรายได้ดอกเบี้ยของพวกเขาได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์มาหลายทศวรรษ

บริษัท Man GLG ได้ทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นธนาคาร ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา

“เราเห็นโอกาสที่น่าสนใจในหุ้นนอกกระแส นอกเหนือจากหุ้นกลุ่มธนาคาร เช่น หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรถไฟ ที่ตอนนี้ยังคงมีราคาซื้อขายกันที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน”

ในทางกลับกัน BlackRock ให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นกระจายหลากหลายของทั้งประเทศ โดยมองว่าหุ้นทุกกลุ่มตั้งแต่เทคโนโลยีไปจนถึงการก่อสร้างและการเงิน ล้วนมีโอกาสที่จะเติบโต


เทขายพันธบัตรกับการเดิมพันเสี่ยงสูง (Bond Bears)


ในขณะที่ตลาดหุ้นน่าลงทุน แต่สำหรับพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น กลับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การขายออก เพราะผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นเกินกว่า 15 จุดในปีนี้ ส่งผลให้ปัจจุบันซื้อขายกันที่ประมาณ 0.78% 

บริษัทจัดการการลงทุน ตั้งแต่ UBS Asset Management ไปจนถึง Schroders Plc ต่างเข้าร่วมเก็งกำไรฝั่งขาลง (Bearish) ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยใช้กลยุทธ์ "widow-maker" (เดิมพันเสี่ยงสูง) แม้กระทั่งก่อนที่ BOJ จะปรับเปลี่ยนนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน

โดย RBC BlueBay เป็นหนึ่งในกองทุนที่เข้าร่วมการเดิมพันในการขาย Shorting พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี โดยคาดการณ์ว่าผลตอบแทนพันธบัตรอ้างอิง (Benchmark) อาจพุ่งสูงเกิน 1.25% ภายในสิ้นปี

“นี่เป็นความเสี่ยงเชิงมหภาคที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้ เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนที่ดีที่สุดเทียบกับความเสี่ยง” มาร์ค ดาวดิง หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของ RBC BlueBay กล่าว

แอรอน ร็อค หัวหน้าฝ่ายอัตราดอกเบี้ย (Nominal Rates) กล่าวว่า กองทุนมองว่ามีโอกาสสูงที่ BOJ จะยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือนเมษายน

“มองไปไกลกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก เราคาดว่า BOJ จะเน้นย้ำว่านโยบายการเงินยังคงผ่อนคลาย แต่อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าพวกเขาจะถูกบังคับให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาสที่ 3 เพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.25%”

คาดเงินเยนแข็งค่า


ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศอื่นๆ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาไปจนถึงยุโรป ทำให้การขายค่าเงินเยน (JPY)เป็นกลยุทธ์การลงทุนมหภาคที่ได้รับความนิยม แต่ตอนนี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป

Schroder Investment Management ได้ปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อหวังผลกำไรจากการแข็งค่าของเยน ขณะที่นักกลยุทธ์จาก JPMorgan Chase & Co. เปิดสถานะการซื้อขายเยนดอลลาร์ (Long Spot Yen) เทียบกับยูโรเมื่อเดือนที่แล้ว

“เราคาดการณ์ว่าการปรับนโยบายการเงินจะเป็นสัญญาณของช่วงเวลาที่เยนแข็งค่าขึ้น คาดว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นประมาณ 8-10% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ภายในปีหน้า” 

แม้ว่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงประมาณ 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีนี้ ส่งผลให้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 148 เยนต่อดอลลาร์ แต่ก็ยังคงอยู่ใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีที่เคยทำไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2565

เงินเยนที่อ่อนค่าถือเป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อนำไปลงทุนในสกุลเงินที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า "Carry Trade" สัญญาณเข้มงวดจาก BOJ อาจส่งผลให้เกิดการคลี่คลายการเดิมพันขาลง (Bearish) บนเงินเยนของกองทุนป้องกันความเสี่ยง

โดยรวมแล้ว นักลงทุนจะให้ความสนใจกับสินทรัพย์ของญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบอาจกลายเป็นอดีต การเปลี่ยนแปลงของ BOJ หมายความว่าญี่ปุ่น "ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับภาวะเงินฝืด และสามารถกลับไปใช้นโยบายการเงินแบบปกติได้แล้ว"

 

อ้างอิง Bloomberg