BOJ ปิดฉาก ‘ดอกเบี้ยติดลบ’ ใครได้-ใครเสีย ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี

BOJ ปิดฉาก ‘ดอกเบี้ยติดลบ’ ใครได้-ใครเสีย ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี

BOJ ประกาศยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบวันนี้ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังดัชนีเศรษฐกิจเกือบทุกตัวสนับสนุน จับตา 'ใครได้ประโยชน์ และใครคือกลุ่มเสี่ยง' จากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้

KEY

POINTS

  • BOJ ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 18-19 มี.ค. นี้  
  • นักวิเคราะห์คาดมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี ในการประชุมครั้งนี้หรือเดือนหน้า เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าญี่ปุ่นพร้อมรับมือยุคดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว
  • คาดว่า 'กลุ่มแบงก์' และการเงินจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากดอกเบี้ยขาขึ้น หลังจากอ่อนแรงมานานในยุคดอกเบี้ยติดลบ
  • 'รัฐบาล ผู้ถือบอนด์ บริษัทซอมบี้ ตลาดอสังหาฯ ผู้ส่งออก และผู้บริโภค' คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการขึ้นดอกเบี้ยและเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น 

สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) วันที่ 18-19 มี.ค. นี้ เป็นครั้งที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด เนื่องจากคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินครั้งสำคัญ ด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ซึ่งล่าสุด BOJ ได้ประกาศยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบไปแล้วตามความคาดหมาย เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. วันนี้ (19 มี.ค.) 

การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ยังถือเป็นการสิ้นสุดการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (negative rates) ที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2559 และปัจจุบันเหลือเป็นประเทศสุดท้ายในโลกแล้วที่ยังใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบอยู่

 

การขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยนั้นไม่ใช่ประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไป เพราะตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจเกือบทุกตัว ยกเว้นเพียงการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังเข็นไม่ค่อยขึ้น แต่ส่วนใหญ่ต่างบ่งชี้ว่าญี่ปุ่นพร้อมแล้วสำหรับการขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วนมากพอ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่แตะระดับ 2% ตามเป้าหมายของบีโอเจไปตั้งแต่ 1 ปีก่อน การเจรจาปรับขึ้นค่าจ้างฤดูใบไม้ผลิปีนี้ที่ได้ขึ้นไป 5.28% หรือสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี และการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นรอดพ้นจากภาวะถดถอย (recession) มาได้

สิ้นสุดยุคดอกเบี้ยติดลบในรอบ 8 ปี

ญี่ปุ่นเริ่มประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2559 ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% ดอกเบี้ยนี้ไม่ใช่ดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปของผู้บริโภค แต่เป็นดอกเบี้ยที่ BOJ เรียกเก็บจากแบงก์พาณิชย์ที่เอาเงินมาฝากไว้กับแบงก์ชาติ นั่นก็เพราะรัฐต้องการให้แบงก์พาณิชย์ปล่อยเงินกู้และสภาพคล่องออกไปในระบบเศรษฐกิจที่ตึงตัวอย่างหนัก เพราะภาวะเงินฝืด (deflation) ที่ลากยาวมาตั้งแต่หลังฟองสบู่แตกในปลายทศวรรษ 90 ทำให้คนไม่ใช้เงินและธุรกิจไม่ลงทุน แบงก์ชาติจึงต้องกดดันแบงก์พาณิชย์ให้ระบายเงินออกไปด้วยวิธินี้

อีกวิธีหนึ่งที่ BOJ ต้องทำควบคู่กันไปก็คือ กดดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดหรือดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปี ให้ต่ำลงมาจริงๆ เพื่อให้ต้นทุนการเงินถูกจนกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและลงทุนได้ ที่ผ่านมา BOJ ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลขนานใหญ่เพื่อกดดอกเบี้ยลง ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ใช้กระตุ้นหลังเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงิน

แต่ในดือน ก.ย. 2559 หรือในปีเดียวกัน BOJ ได้เปลี่ยนจาก QE หันไปใช้วิธีควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield-curve control) หรือ YCC เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแทน โดยเป็นการกำหนดเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ให้อยู่ที่ราว 0% และมีช่วงระยะขึ้นลงไม่เกิน 0.5% ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ใช้เงินเข้าซื้อพันธบัตรน้อยลงเมื่อเทียบกับการทำคิวอี 

ถึงยุคขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี

สำนักข่าวเกียวโดในญี่ปุ่นรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า บีโอเจ น่าจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังเสร็จสิ้นการประชุม 2 วัน ในวันอังคารที่ 19 มี.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี และคาดว่าบีโอเจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไปอยู่ที่ระดับ 0%

แหล่งข่าวระบุว่า บีโอเจอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.1% จากปัจจุบันที่ระดับติดลบ 0.1% ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0% และคาดว่าจะกำหนดดอกเบี้ยระยะข้ามคืนระหว่างธนาคาร (overnight) หรือดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ระหว่าง 0 - 0.1%

ทั้งนี้ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นมาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ บีโอเจก็ได้ผ่อนคลายการควบคุมดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดให้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี ของญี่ปุ่นในบางช่วงขยับสูงกว่าระดับเป้าหมาย 1% ไปแล้ว

โทโมฮิโระ โอตะ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า นอกจากการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว คาดว่าบีโอเจจะประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ไปพร้อมกันด้วย แต่จะยังคงปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในระดับเดิมต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้ดอกเบี้ยอ้างอิงเพิ่มขึ้นเร็วเกิน และคาดว่าจะยังถือครอง ETF ต่อไป

ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 50 คนโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า ความเห็นส่วนใหญ่ที่เกินครึ่งมาเล็กน้อยเชื่อว่า BOJ น่าจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน เม.ย.

แต่หลังจากที่มีรายงานข่าวเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ว่า การเจรจาด้านค่าจ้างประจำปี (ชุนโต) ประสบความสำเร็จในการเจรจาขอขึ้น 5.28% ในปีงบการเงิน 2567 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ก็ทำให้นักวิเคราะห์หลายรายหันมาเพิ่มน้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. แทน

อย่างไรก็ตาม คาซึโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจ ได้ย้ำก่อนหน้านี้ว่าแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่นโยบายการเงินของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในแดนผ่อนคลายต่อไป เป็นการส่งสัญญาณว่าบีโอเจจะยังไม่รีบร้อนขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป

บอนด์-อสังหาฯ-ผู้บริโภค สะเทือน!!

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะส่งผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อภาคธุรกิจหลายกลุ่มด้วยกัน ทั้งในและต่างประเทศ เพราะนอกจากจะเป็นผลกระทบโดยตรงจากดอกเบี้ยที่แพงขึ้นแล้ว ยังเป็นผลกระทบจากค่าเงินเยนที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น และผลกระทบทางอ้อมอื่นๆ ด้วย

กลุ่มที่จะได้รับ “ผลกระทบเชิงลบ” นั้น เริ่มตั้งแต่รัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีหนี้สาธารณะสูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยมีขนาด 2 เท่าของจีดีพีประเทศ ทว่ากระทรวงการคลังได้ตั้งงบเฉพาะกาลรองรับเอาไว้โดยเพิ่มการคำนวณดอกเบี้ยจากปัจจุบันที่ 1.1% ไปเป็นอัตรา 1.9% สำหรับปีหน้า สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาระหนี้ที่รัฐบาลต้องชำระเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านล้านเยน (ราว 6.48 ล้านล้านบาท) หรือ1 ใน 4 ของงบประมาณประจำปี ขณะที่บีโอเจ คาดว่าจะขาดทุนจากราคาพันธบัตรที่ลดลง ซึ่งเคลื่อนไหวผันผวนกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย

BOJ ปิดฉาก ‘ดอกเบี้ยติดลบ’ ใครได้-ใครเสีย ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี

ทางด้าน “บริษัทซอมบี้” หรือบริษัทที่มีกำไรต่ำและสุ่มเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายนั้นคาดว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จะเผชิญแรงกดดันจากดอกเบี้ยขาขึ้น โดยข้อมูลจากเทย์โคขุ ดาต้าแบงก์ พบว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีบริษัทซอมบี้อยู่ประมาณ 2.51 แสนแห่งในปี 2566 หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 17.1% ของบริษัททั้งหมดในประเทศ

ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ “สินเชื่อบ้าน” เป็นอีกกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางตรงมากที่สุด จากรายงานล่าสุดของสำนักงานการเงินที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นพบว่า เกือบ 3 ใน 4 ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นใช้อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านแบบลอยตัว ซึ่งจะทำให้การขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของบีโอเจกระทบต่อผู้กู้ซื้อบ้านไปจนถึงอัตราค่าเช่าบ้านที่สูงขึ้น

ผลกระทบด้านนี้นอกจากอาจจะส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงแล้ว ยังคาดว่าจะกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคตามมาอีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ดัชนีการใช้จ่ายของผู้บริโภคญี่ปุ่นชะลอตัวลงเพราะผลกระทบเงินเฟ้ออยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม อาจยังต้องรอดูทิศทางต่อไปเนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ย ในแง่หนึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้เปรียบจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นและยังมีการปรับขึ้นค่าแรงของภาคเอกชนอีกด้วย

สำหรับกลุ่ม "ลูกหนี้ผู้บริโภคนั้น" แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีหนี้สาธารณะที่สูงมากถึง 2 เท่าของจีดีพี แต่หนี้ผู้บริโภค เช่น หนี้บัตรเครดิตกลับไม่ได้สูงตาม อัตราการค้างชำระในปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่เพียง 2.73% เท่านั้น เมื่อเทียบกับในสหรัฐที่สูงกว่า 10% แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เสี่ยงเสียทีเดียว เพราะหนี้ครัวเรือนของญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนถึง 122% ของรายได้หลังหักภาษี ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในกลุ่มชาติพัฒนาแล้ว  

หากเทียบในสหรัฐ การขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งก่อนหน้านี้ของเฟดช่วยหนุนให้แบงก์พาณิชย์ทำงานคล่องตัวขึ้น สามารถออกบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นถึง 22.8% ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาซึ่งสูงทุบสถิติใหม่ แต่ก็มาพร้อมหนี้บัตรเครดิตในสหรัฐทั้งหมดที่ขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์เช่นกัน ทว่าสถานการณ์เช่นนี้คาดว่าจะไม่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่น 

ส่วน "กลุ่มผู้ส่งออก" ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานในหลายประเทศรวมถึงไทยด้วยนั้น เช่น โตโยต้า มอเตอร์ (Toyota) คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น หลังจากที่ภาคส่งออกญี่ปุ่นได้อานิสงส์เรื่องค่าเงินอ่อนค่ามานับสิบปี โตโยต้าเองเคยระบุว่า บริษัทได้กำไรค่าเงินถึง 4.5 หมื่นล้านเยน จากการแข็งค่าของดอลลาร์เมื่อเทียบเงินเยน ทุกๆ 1 เยน  

แบงก์-ตลาดหุ้น ได้อานิสงส์ดอกเบี้ยขึ้น

บลูมเบิร์ก ระบุว่า กลุ่มที่จะได้อานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้นในญี่ปุ่นหลักๆ คือกลุ่มสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารท้องถิ่นในภูมิภาค เนื่องจากยุคดอกเบี้ยติดลบก่อนหน้านี้ส่งผลกระทบต่อการทำกำไรของธนาคารท้องถิ่น และภาคธนาคารเองก็เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สนับสนุนการยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบของบีโอเจในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ กองทุนแบล็กร็อก (Blackrock) คาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างช้าๆ ส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินยังคงเอื้ออำนวยต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยกองทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นกระจายหลากหลายทั้งประเทศ ตั้งแต่เทคโนโลยีไปจนถึงการก่อสร้างและการเงิน ซึ่งล้วนมีโอกาสที่จะเติบโต

ขณะที่ มิจิโกะ ซากาอิ ผู้จัดการบริษัทจัดการหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน แอสเส็ท แมเนจเมนท์ กล่าวว่าเลือกลงทุนในบริษัทประกันภัยมากกว่าธนาคาร เนื่องด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าและการปฏิรูปการกำกับดูแลที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ดัชนีนิกเกอิ 225 พุ่งทะยานแตะ 40,000 จุด เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แม้โมเมนตัมการขึ้นจะชะลอตัวลงบ้าง แต่การปรับฐานเล็กน้อยนี้ ไม่สามารถหยุดนักลงทุนได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนเลือกหุ้นอย่างละเอียดมากขึ้น

ที่มา: ฺBloomberg, Reuters, Kyodo