'อินโดนีเซีย' ทำเซอร์ไพรส์ 'ขึ้นดอกเบี้ย' หวังพยุงค่าเงินรูเปียห์ดิ่งเหว
หรือสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นจะกลับมา แบงก์ชาติอินโดนีเซียสร้างเซอร์ไพรส์ 'ขึ้นดอกเบี้ย' ทะยานแตะ 6.25% สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี หวังช่วยพยุงค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเหนือความคาดหมายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันนี้ (24 เม.ย.67) โดยมีมติปรับขึ้น 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรอายุ 7 วัน ซึ่งเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงหลักขยับขึ้นไปอยู่ที่ 6.25% ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 8 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืน และดอกเบี้ยกู้ยืมถูกปรับขึ้นในอัตราเดียวกัน เป็น 5.50% และ 7.00% ตามลำดับเช่นกัน
การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นความพยายามช่วยพยุง "ค่าเงินรูเปียห์" (Rupiah) ที่กำลังอ่อนค่าลงอย่างหนักจากแรงเทขายเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์ และผลจากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้
ภายหลังมีมติที่ประชุมออกมา ค่าเงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้นทันที 0.45% ไปอยู่ที่ราว 16,140 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ เมื่อเวลาประมาณ 14.36 น. ตามเวลาท้องถิ่น
การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ยังนับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ "เหนือความคาดหมาย" ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ผลสำรวจของรอยเตอร์สระบุว่า มีนักวิเคราะห์เพียง 6 คน จากทั้งหมด 35 คน ที่คาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในวันนี้ โดยที่เหลือคาดการณ์ว่าที่ประชุมจะคงอัตราดอกเบี้ย
"การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนรูเปียห์ เทียบกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง" เพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียกล่าว
ปีนี้ค่าเงินรูเปียห์ อินโดนีเซีย อ่อนค่าลงไปแล้วถึง 5.3% และเมื่อวันศุกร์ที่ 19 เม.ย.67 ที่ผ่านมา แบงก์ชาติอินโดนีเซียต้องเข้าดำเนินการแทรกแซงค่าเงิน หลังจากรูเปียห์ร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ที่ราว 16,200 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะชะลอการลดดอกเบี้ยออกไป และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ก็ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนเช่นกัน แต่ก็ยังอยู่ภายในเป้าหมายของแบงก์ชาติที่ระหว่าง 1.5% - 3.5% ขณะที่แบงก์ชาติยังคงประมาณการ การเติบโตของจีดีพีในปีนี้เอาไว้เหมือนเดิมที่ระหว่าง 4.7% - 5.5% จากที่เติบโตในปีที่แล้ว 5.05%
เอเชียปรับแผนรับดอลลาร์แข็งค่ายาว
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หลายประเทศในเอเชียอาจต้องปรับแผนรับมือทิศทางค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าในระยะยาว และอาจได้เห็นการ "ขึ้นดอกเบี้ย" ตามมาในปีนี้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนจากไปจากช่วงต้นปีที่หลายฝ่ายคาดว่าปีนี้จะเป็นปีของการลดดอกเบี้ยตามทิศทางเฟด
บริษัทหลักทรัพย์เวลส์ ฟาร์โก ระบุว่า ค่าเงินรูเปียห์มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงไปถึง 16,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ในขณะที่นักกลยุทธ์ของบริษัท บราวน์ บราเธอร์ส แฮร์รีแมน แอนด์ โค คาดการณ์ว่ารูเปียห์อาจดิ่งลงหนักจนไปแตะระดับ 17,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ภายในเดือนก.ย.ปีนี้
นายเบรนดัน แม็คเคนนา นักกลยุทธ์ค่าเงินตลาดเกิดใหม่ของเวลส์ฟาร์โก กล่าวว่า การคงดอกเบี้ยต่อไปมีแต่จะยิ่งทำให้เงินรูเปียห์อ่อนค่าลง การใช้นโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้นจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 22 คนยังคงเสียงแตก โดยมี 7 คนที่เชื่อว่าจะขึ้นดอกเบี้ย และที่เหลือคาดว่าจะเป็นการคงดอกเบี้ยตามเดิม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์