อัปเดต! ไม่ยื่นภาษี ยื่นภาษีเกินกำหนด เสียค่าปรับและเงินเพิ่ม คิดอย่างไร

อัปเดต! ไม่ยื่นภาษี ยื่นภาษีเกินกำหนด เสียค่าปรับและเงินเพิ่ม คิดอย่างไร

อัปเดต! ประกาศกรมสรรพากร กรณียื่นภาษีช้าเกินกำหนด ไม่ยื่นรายการและชำระภาษี หรือยื่นรายการแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ส่วนจะคิดอย่างไร มีข้อยกเว้นไหม อ่านได้ที่นี่

เมื่อกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งเรื่อง การนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยได้กำหนดเริ่มคำนวณค่าปรับและเงินเพิ่ม ตั้งแต่วันที่เลยกำหนดขยายเวลา ผู้เสียภาษียังสามารถยื่นภาษีต่างๆ ได้ในช่วงที่ได้ขยายเวลา แบบไม่โดนค่าปรับและเงินเพิ่ม

ดังนั้น ผู้มีรายได้ที่มีหน้าที่เสียภาษี โดยเฉพาะบุคคลธรรมดาที่มักหลงลืมเรื่องเหล่านี้ไป หากยังไม่ได้ยื่นภาษี เมื่อมีประกาศให้ขยายเวลาในการยื่นและเสียภาษีออกไป ต้องรีบจัดการให้เรียบร้อย เพื่อหลีกเลี่ยงเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแบบไม่รู้จบ จนกว่าจะชำระภาษีเสร็จสิ้น ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ประกาศกรมสรรพากร เรื่องการนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม

1.ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรฉบับ ป.117/2545

2.กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและชำระภาษี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้ยื่นรายการและชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายนั้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับอาญาแต่อย่างใด
​แต่ถ้าผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ยื่นรายการและชำระภาษี หรือยื่นรายการแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาที่ขยายเวลาให้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยให้คำนวณตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นรายการและชำระภาษีตามที่ได้รับอนุมัติให้ขยายออกไปจนถึงวันชำระ

3.การขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและชำระภาษีตามข้อ 2 ซึ่งกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นรายการและชำระภาษีทั้งฉบับปกติและฉบับเพิ่มเติมผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเท่านั้น หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว การคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้คำนวณตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมายนกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร เว้นแต่กรณีที่ได้รับการขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและชำระภาษี ตามประกาศกระทรวงการคลังฯ

การคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ให้คำนวณตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงการคลัง โดยแยกเป็น 2 กรณีดังนี้

3.1 การณียื่นรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในกำหนดเวลา ต่อมามีการยื่นรายการเพิ่มเติมด้วยแบบกระดาษ เฉพาะการยื่นรายการเพิ่มเติมด้วยแบบกระดาษไม่ได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลาตามประกาศกระทรวงการคลังฯ

​3.2 กรณียื่นรายการด้วยแบบกระดาษและชำระภาษีภายในกำหนดเวลา ต่อมายื่นรายการและชำระภาษีเพิ่มเติมผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การยื่นรายการและชำระภาษีเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลาตามประกาศกระทรวงการคลังฯ

4.กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาในการยื่นรายการและชำระภาษีเป็นการเฉพาะ เช่น การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการและชำระภาษีให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีดังกล่าว หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่นรายการและชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายกำหนดเวลา ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เป็นต้น

แต่ถ้าผู้เสียภาษีไม่ยื่นรายการและชำระภาษี หรือยื่นรายการแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วนภายในกำหนเวลา จะต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยให้คำนวณตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาที่ได้ขยายออกไปจนถึงวันที่ชำระ

5.กรณีการยื่นรายการและชำระภาษีตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร หรือตามที่ได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลา หรือการใช้สิทธิผ่อนชำระภาษีเป็นรายงวด ซึ่งวันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ

5.1 การยื่นรายการและชำระภาษีตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

5.2 การยื่นรายการและชำระภาษีตามกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ขยายเวลาออกไป ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรค หนึ่ง (เช่น อุทธรณ์) ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับแต่ต้องเสียเงินเพิ่ม ในอัตรา 0.75%/เดือน

5.3 การยื่นรายการและชำระภาษีตามกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

​5.4 การใช้สิทธิผ่อนชำระเป็นรายงวด หากงวด 2-3 หากวันสุดท้ายตรงกับวันหยุดราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการนั้นเป็นวัดสุดท้ายของระยะเวลา

​6.กรณีบุคคลผู้ต้องเสียเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ และขอเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2543 การได้รับสิทธิลดเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หากวันสุดท้ายตรงกับวันหยุดราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา

7.บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก

8.คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงคำสั่งนี้เป็นต้นไป คือวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2567

การนับวันสุดท้ายของการเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ จากประกาศของกรมสรรพากรเกี่ยวกับการนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มไว้ทั้งหมด 8 ข้อ ทาง Tax-EZ (easy) ก็ได้สรุปตัวอย่างการนับวันสุดท้ายของการเสียภาษีไว้ ซึ่งสำหรับผู้มีรายได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา สามารถสรุปได้ดังนี้

1.แบบ ภ.ง.ด.90, 91, 95 ยื่นภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

- ยื่นแบบกระดาษภายใน 31 มี.ค. ของปีถัดไป โดยวันที่เริ่มนับคำนวณค่าปรับ คือตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึงวันที่ชำระ กรณีวันที่ 31 มี.ค.เป็นวันหยุดราชการ ให้ถือวันจันทร์ที่ 2 เม.ย.เป็นสุดท้าย หากไม่ได้ยื่นตามกำหนด ค่าปรับให้เริ่มคำนวณตั้งแต่วันที 3 เม.ย.จนถึงวันชำระ

กรณีผ่อนชำระภาษี เช่น งวดที่ 2 ตรงกับวันเสาร์ที่ 30 เม.ย. ให้ถือวันจันทร์ที่ 2 พ.ค. เป็นวันสุดท้าย หากไม่ได้ยื่นตามกำหนด ค่าปรับให้เริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.จนถึงวันชำระ และไม่มีสิทธิผ่อนชำระงวดที่เหลือ

- ยื่นออนไลน์ ภายในวันที่ 8 เม.ย.ของปีถัดไป โดยวันที่เริ่มนับคำนวณค่าปรับ คือตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. จนถึงวันที่ชำระ กรณีวันที่ 8 เม.ย.เป็นวันหยุดราชการ ให้ถือวันจันทร์ที่ 10 เม.ย.เป็นสุดท้าย หากไม่ได้ยื่นตามกำหนด ค่าปรับให้เริ่มคำนวณตั้งแต่วันที 11 เม.ย.จนถึงวันชำระ

กรณีผ่อนชำระภาษี เช่น งวดที่ 2 ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 พ.ค. ให้ถือวันจันทร์ที่ 10 พ.ค. เป็นวันสุดท้าย หากไม่ได้ยื่นตามกำหนด ค่าปรับให้เริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.จนถึงวันชำระ และไม่มีสิทธิผ่อนชำระงวดที่เหลือ
2.แบบ ภ.ง.ด.94 ยื่นภาษีภายในเดือนกันยายนของทุกปี

- ยื่นแบบกระดาษภายใน 30 ก.ย. ของทุกปี โดยวันที่เริ่มนับคำนวณค่าปรับ คือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จนถึงวันที่ชำระ กรณีวันที่ 30 ก.ย. เป็นวันหยุดราชการ ให้ถือวันจันทร์ที่ 2 ต.ค. เป็นสุดท้าย หากไม่ได้ยื่นตามกำหนด ค่าปรับให้เริ่มคำนวณตั้งแต่วันที 3 ต.ค. จนถึงวันชำระ

- ยื่นออนไลน์ ภายในวันที่ 8 ต.ค.ของทุกปี โดยวันที่เริ่มนับคำนวณค่าปรับ คือตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. จนถึงวันที่ชำระ กรณีวันที่ 8 ต.ค. เป็นวันหยุดราชการ ให้ถือวันจันทร์ที่ 10 ต.ค. เป็นสุดท้าย หากไม่ได้ยื่นตามกำหนด ค่าปรับให้เริ่มคำนวณตั้งแต่วันที 11 ต.ค.จนถึงวันชำระ

สรุป​

ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดยื่นและเสียภาษี ผู้มีรายได้ไม่ควรนิ่งนอนใจรีบจัดการเรื่องภาษีของตนเองให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นเป็นหลายเท่า เพราะคุณอาจได้ไม่คุ้มเสีย!!!

 

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting