เปิดข้อผิดพลาดของ ‘ปีเตอร์ ลินช์’ เสียใจที่ไม่ได้ลงทุน ‘Apple’ กับ ‘Nvidia’
เปิดประสบการณ์ผิดพลาดของ “ปีเตอร์ ลินช์” นักลงทุนระดับตำนาน ซึ่งรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้น “Apple” และ “Nvidia” ทั้งที่มองว่าเป็นธุรกิจที่เข้าใจง่าย เขาโทษตัวเองที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีจนพลาดโอกาสทองในการคว้ากำไรมหาศาล
KEY
POINTS
- ช่วงที่ปีเตอร์ ลินช์เป็นผู้จัดการกองทุน Magellan Fund สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นสูงถึง 29.2% ต่อปี นานติดต่อกัน 13 ปี
- ลินช์เผยว่า รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ศึกษา Apple ให้ดี มองว่าเป็นบริษัทเข้าใจง่าย ฐานะการเงินแข็งแกร่ง เห็นจากกำไรจากการขาย iPod แต่ไม่ได้ตัดสินใจลงทุนจนพลาดโอกาสครั้งใหญ่ไป
- ลินช์หาหุ้นจากธุรกิจต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การไปลองทานในร้านทาโก้ เบลล์ หรือสังเกตว่าภรรยาชอบใส่ถุงน่องยี่ห้อ Hanes แล้วนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำการบ้านต่อ
หากเอ่ยถึงชื่อ “ต้นแบบนักลงทุนเน้นคุณค่า” นอกจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ ชาร์ลี มังเกอร์ และเบนจามิน เกรแฮมแล้ว ชื่อของ “ปีเตอร์ ลินช์” (Peter Lynch) ถูกพูดถึงเป็นอันดับต้น ๆ โดยช่วงที่เขาเป็นผู้จัดการกองทุน Magellan Fund สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นสูงถึง 29.2% ต่อปี นานติดต่อกัน 13 ปี และเป็นผู้คิดการแบ่งหุ้นออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ หุ้นโตเร็ว หุ้นโตช้า หุ้นแข็งแกร่ง หุ้นฟื้นตัว หุ้นวัฏจักร และหุ้นสินทรัพย์แฝง อันเป็นแนวทางลงทุนที่เหล่า VI ยึดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ตัวเขาจะประสบความสำเร็จด้านการลงทุนอย่างงดงาม แต่ลินช์ได้เผยความรู้สึกในการลงทุนที่ผ่านมาไม่นานว่า รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ซื้อหุ้นเทคโนโลยีอย่าง “Apple” และ “Nvidia”
- ปีเตอร์ ลินช์ -
พลาด Apple และ Nvidia หุ้นเด้งรอบใหญ่
ลินช์ให้สัมภาษณ์ในรายการ Squawk Box ของสำนักข่าว CNBC ว่า “บริษัท Apple ไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้น น่าเสียดายที่ผมไม่ได้ศึกษา Apple ให้ดี นี่ไม่ใช่บริษัทที่เข้าใจยากเลย อีกทั้งมีฐานะทางการเงินที่ไม่เลว” พร้อมเล่าต่อว่า ลูกสาวลินช์เคยซื้อ iPod ในราคา 250 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้เขาคิดว่า Apple น่าจะมีกำไรเยอะ แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็ไม่ได้ตัดสินใจซื้อหุ้น
ปีเตอร์ ลินช์ในวัย 80 ปียอมรับว่า บัฟเฟตต์มองเห็นศักยภาพของ Apple และคว้าโอกาสไว้ได้ ก่อนหน้านั้น บัฟเฟตต์เคยหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีมานานหลายทศวรรษ โดยให้เหตุผลว่าอยู่นอกเหนือความเชี่ยวชาญของเขา แต่ภายใต้คำแนะนำของผู้ช่วยฝ่ายการลงทุน เขาก็ตัดสินใจซื้อหุ้น Apple ในปี 2559 และได้กลายเป็นบริษัทที่บัฟเฟตต์ “ถือในสัดส่วนมากที่สุด” ในพอร์ต จนส่งเขาให้ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับ 8 ของโลก ด้วยความมั่งคั่งกว่า 4.9 ล้านล้านบาท
“Apple” ถือเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของบัฟเฟตต์ สร้างกำไรบนกระดาษให้เขาเกินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี แม้ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยี แต่บัฟเฟตต์ยังคงมองเห็น Apple เป็น “บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค” เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ภักดีและพลังของแบรนด์อันแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ลินช์ยังรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ซื้อหุ้น “Nvidia” ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านชิป และเป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตมากที่สุดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Nvidia มีบทบาทสำคัญในการเป็น “ส่วนมันสมอง” ที่ปัญญาประดิษฐ์ขาดไม่ได้อีกด้วย
"Nvidia กลายเป็นหุ้นที่เติบโตมาก ผมหวังว่าจะออกเสียงชื่อยากนี้ได้นะ" ลินช์พูดติดตลก
หาหุ้นดีจากบริษัทใกล้ตัวและตัวเองเข้าใจ
ที่ผ่านมา ปรัชญาการลงทุนของลินช์ คือ มองหาธุรกิจที่กำลังเติบโตในราคาที่ถูก และศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถึงการดำเนินงานก่อนจะลงทุน โดยลินช์กล่าวว่า เพื่อให้ได้กำไรระยะยาวอย่างจริงจัง นักลงทุนควรมองหาบริษัทที่กำลังฟื้นตัว หรือมีแนวโน้มธุรกิจดีขึ้น จากนั้นจึงวิเคราะห์งบดุลเพื่อให้แน่ใจว่า บริษัทนั้นมีการบริหารที่ดีและไม่มีหนี้สินมากเกินไป
แม้ว่านักลงทุนวอลล์สตรีทบางคนเตือนว่า ให้เน้นแนวการลงทุนแบบตั้งรับดีกว่า เนื่องจากสหรัฐเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือแม้แต่สงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ลินช์ยังคงยืนยันว่า “ไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตได้” สิ่งสำคัญคือ การประเมินธุรกิจแต่ละแห่งอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
แม้จะพลาดโอกาสไปบ้าง ลินช์ก็ไม่เชื่อในการวิ่งซื้อหุ้นตามกระแส เพราะกลัวตกรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาไม่เข้าใจธุรกิจนั้นอย่างถ่องแท้ ลินช์เตือนนักลงทุนรายย่อยถึงหุ้นพุ่งแรงไม่หยุดว่า “คุณต้องระมัดระวังจริง ๆ ดูงบดุล อะไรคือเหตุผลที่หุ้นราคาสูงขึ้น? ถ้า 'หุ้นงี่เง่ากำลังขึ้น' ไม่ใช่เหตุผลที่ดีในการเข้าซื้อ”
นอกจากนี้ ในการเฟ้นหาบริษัทคุณภาพ เขาสังเกตจากประสบการณ์จริงในชีวิตประจำวัน เช่น การไปลองทานในร้าน Taco Bell ซึ่งเป็นอาหารเม็กซิกัน หรือสังเกตว่าภรรยาชอบใส่ถุงน่องยี่ห้อ Hanes จากนั้นลินช์จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์โอกาสการเติบโตของบริษัท ผลประกอบการ โครงสร้างธุรกิจ งบดุล มูลค่าหุ้น หรือแม้กระทั่งเยี่ยมชมบริษัทและพูดคุยกับพนักงานโดยตรง ก่อนจะตัดสินใจลงทุน
พีเตอร์ ลินช์ มองว่า วิธีที่ดีที่สุดในการลงทุนคือ มองหาบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่คุณทำงานอยู่ "ถ้าคุณอยู่ในอุตสาหกรรมเหล็ก และฟื้นตัวขึ้นมา คุณจะเห็นก่อนที่ผมจะเห็น"
ลินช์เสริมว่า "ผู้คนมักจะซื้อหุ้นโดยไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับบริษัท นั่นคือการพนัน ไม่ใช่การลงทุนที่ดี"
สร้างผลตอบแทน 29.2% ติดต่อกัน 13 ปี
สำหรับลินช์นั้น เขาเคยสร้างชื่อเสียงระดับตำนานจากการบริหารกองทุน Magellan Fund ระหว่างปี 2520 ถึง 2533 ภายใต้การบริหารของเขาตลอด 13 ปี กองทุนนี้สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 29.2% ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 อย่างต่อเนื่อง และช่วยเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน Magellan จาก 20 ล้านดอลลาร์ ขึ้นเป็น 14,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่ง
ตัวอย่างหุ้นที่สร้างกำไรให้ลินช์และนักลงทุนของเขาอย่างมาก เช่น McDonald's เชนร้านอาหารฟาสต์ฟูด, Ford บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่, General Electric ยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้า และ Lowe's ห้างขายวัสดุก่อสร้างในสหรัฐ
ผลงานอันโดดเด่นนี้เองที่ทำให้ ลินช์ กลายเป็นบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงโด่งดังบนวอลล์สตรีท ต่อมาเขายังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนมากมาย อาทิ "One Up on Wall Street" เหนือกว่าวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ลงทุนของเขาสำหรับใช้หาหุ้น 10 เด้ง ในช่วงที่เขาเป็นผู้จัดการกองทุน
- หนังสือ One Up on Wall Street -
อ้างอิง: cnbc, fortune, munro