ดัชนีดาวโจนส์ ทะยานเหนือ 40,000 พุ่งขึ้น 247 จุด รับความหวัง 'เฟด' ลดดอกเบี้ย

ดัชนีดาวโจนส์ ทะยานเหนือ 40,000 พุ่งขึ้น 247 จุด รับความหวัง 'เฟด' ลดดอกเบี้ย

ดัชนีดาวโจนส์ พุ่งทำนิวไฮระหว่างการซื้อขาย ก่อนลงมาปิดเหนือ 40,000 จุด รับความหวังเฟดลดดอกเบี้ยก.ย. หลังมีข่าวดี เงินเฟ้อ ในสัปดาห์นี้ แม้ว่าดัชนีเงินเฟ้อผู้ผลิต PPI ปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาดก็ตาม

ดัชนีดาวโจนส์ ที่ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก กลับมาปิดบวกได้ร้อนแรงเหนือ 40,000 จุด ในวันศุกร์ที่ 12 ก.ค.67 โดยระหว่างการซื้อขายดาวโจนส์ยังพุ่งขึ้นไปทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบใหม่ที่ 40,257.24 จุด หลังจากนักลงทุนกลับมาให้น้ำหนักหุ้นในเซ็กชั่นอื่นนอกเหนือจากเทคโนโลยี ตอบรับข่าวดีในสัปดาห์นี้ทั้งดัชนีเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.

และการส่งสัญญาณของ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถึงแนวโน้มที่เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า เพราะการที่เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานเกินไปอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones) ปิดบวก 247.15 จุด หรือ +0.62% ปิดที่ 40,000.90 จุด 
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 (S&P 500) ปิดบวก 30.81 จุด หรือ +0.55% ปิดที่ 5,615.35 จุด 
  • ดัชนีแนสแด็ก คอมโพสิต (Nasdaq) ปิดบวก 115.04 จุด หรือ +0.63% ปิดที่ 18,398.44 จุด 

หุ้นกลุ่มธนาคาร ในดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 1.5% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของโลก ร่วงลง 1.2% แม้เปิดเผยผลกำไรไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นโดยได้แรงหนุนจากค่าธรรมเนียมด้านวาณิชธนกิจที่เพิ่มขึ้น หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ร่วงลง 6% หลังประมาณการรายได้จากดอกเบี้ยรายไตรมาสต่ำกว่าคาด

ขณะที่ หุ้นซิตี้กรุ๊ป ลดลง 1.8% แม้รายงานรายได้ด้านวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้นก็ตาม

ด้านราคาหุ้นของบรรดาบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาดดีดตัวขึ้นหลังจากร่วงลงเมื่อวันพฤหัสบดี โดย หุ้นแอปเปิ้ล และ หุ้นอินวิเดีย ปรับตัวขึ้นมากกว่า 1% ส่วนหุ้นเทสลาพุ่งขึ้น 3% และเป็นหุ้นในดัชนี S&P500 ที่มีการซื้อขายมากที่สุดเป็นมูลค่าราว 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันศุกร์

ข้อมูลจาก LSEG IBES ระบุว่า บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า ผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทในดัชนี S&P500 จะเพิ่มขึ้น 9.6% โดยคาดว่าบริษัทด้านเทคโนโลยีจะมีผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์, อุตสาหกรรม และวัสดุ จะลดลง

ข้อมูลเศรษฐกิจที่เปิดเผยในวันศุกร์บ่งชี้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สูงกว่าคาดเล็กน้อยในเดือนมิ.ย. แต่แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย. หลังจากที่มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดลงเกินคาดเมื่อวันพฤหัสบดี

 

ดัชนี PPI สูงกว่าคาด แต่ยังไม่ดับฝันเรื่องเฟด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่คาดเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนการบริการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย.

ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.3% และเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 2.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% 

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 3.0% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% จากที่ขยายตัว 2.6% ในเดือนพ.ค. หากเทียบเป็นรายเดือนปรับตัวขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% 

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 11 ก.ค. กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผย ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมิ.ย.พบว่า เงินเฟ้อทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 3.3% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน

เงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวลง 0.1% สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าปรับตัวขึ้น 0.1% และยังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 ที่ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐปรับตัวลงต่ำกว่า 0% เมื่อเทียบรายเดือน

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า บรรดาเทรดเดอร์คาดว่า มีโอกาส 94% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย.นี้ เพิ่มขึ้นจาก 78% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ตลาดยังเริ่มกลับมาให้น้ำหนักการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย., พ.ย. และ ธ.ค. "เพิ่มเติม" จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในเดือน ก.ย.และธ.ค.