ราคาทองปิดบวกต่อเนื่อง 9.30 ดอลลาร์ รับดอลลาร์อ่อนค่า-เก็งเฟดลดดอกเบี้ย

ราคาทองปิดบวกต่อเนื่อง 9.30 ดอลลาร์ รับดอลลาร์อ่อนค่า-เก็งเฟดลดดอกเบี้ย

ราคาทองปิดบวกต่อเนื่อง 9.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 2,550.60 ดอลลาร์/ออนซ์ รับเงินดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่ตลาดคาดการณ์รอรับเฟดลดดอกเบี้ย ก.ย.นี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคารที่ 20 ส.ค. โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 9.30 ดอลลาร์ หรือ 0.37% ปิดที่ 2,550.60 ดอลลาร์/ออนซ์

ทั้งนี้ ราคาทองคำปิดตลาดดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 2,500 ดอลลาร์ หลังจากดัชนีดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนตลาดทองคำ เนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

ข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 69.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย. และให้น้ำหนัก 30.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งนี้

อาคาช โดชี หัวหน้านักวิเคราะห์ประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือของ Citi Research กล่าวว่า นอกเหนือจากความหวังที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว ราคาทองคำยังได้แรงหนุนจากการที่กองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้เพิ่มการถือครองทองคำ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 ส.ค.) กองทุน SPDR Gold Trust เพิ่มการถือครองทองสู่ระดับ 859 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน

ทั้งนี้ โดชีคาดการณ์ว่า ราคาทองคำจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 2,600 ดอลลาร์/ออนซ์ ภายในสิ้นปี 2567 และคาดว่าจะทะยานขึ้นแตะระดับ 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ภายในช่วงกลางปี 2568

การประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล จะเริ่มขึ้นในวันพฤหัสบดีจนถึงวันเสาร์นี้ (22-24 ส.ค.) โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดจะกล่าวสุนทรพจน์ในวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. เวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 21.00 น.ตามเวลาไทย ซึ่งนักลงทุนต่างก็คาดหวังว่านายพาวเวลจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับจำนวนครั้งและช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งในปีนี้และปีหน้า