ทำไม แมนฯ ยูไนเต็ด กล้าปลดเซอร์อเล็กซ์ คำถามและการพิสูจน์การบริหารของ INEOS

ทำไม แมนฯ ยูไนเต็ด กล้าปลดเซอร์อเล็กซ์ คำถามและการพิสูจน์การบริหารของ INEOS

ในขณะที่แฟน “ปีศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (แมนฯ ยูไนเต็ด) กำลังลุ้นอนาคตของ เอริค เทน ฮาก ผู้จัดการทีมชาวดัตช์ว่าจะต้องไปจากสโมสรเพื่อเซ่นสังเวยให้แก่ผลงานที่เลวร้ายในช่วงการออกสตาร์ทฤดูกาลใหม่หรือไม่

KEY

POINTS

Key Points

  • เจ้าของ INEOS ได้แจ้งต่อเซอร์ อเล็กซ์ ว่าจะขอยุติสัญญาที่เฟอร์กีทำไว้กับสโมสรในบทบาท Global Club Ambassador ที่ทำไว้กับสโมสรในปี 2013 ภายหลังจากตัดสินใจวางมือจากการคุมทีม โดยสัญญาจะยุติอย่างเป็นทางการเมื่อสิ้นสุดการแข่งขันพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ในเดือนพฤษภาคม 2025 แต่จะยังคงตำแหน่งบอร์ดบริหารที่ไม่มีอำนาจการตัดสินใจในสโมสรอยู่เพื่อเป็นเกียรติ
  • หนึ่งในเสียงที่ดังที่สุดที่แสดงออกว่าไม่พอใจคือ เอริค คันโตนา ตำนานกองหน้าชาวฝรั่งเศส เจ้าของสมญา “The King” ซึ่งเป็นขุนพลคู่ใจของเซอร์ อเล็กซ์ ในยุคแรกของการครองความยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอลอังกฤษ
  • การตัดสัญญาของเฟอร์กี้ คล้ายเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างถึงคนทำงานในสโมสรทุกคน ไม่มีใครที่ยิ่งใหญ่กว่าสโมสร ใครไม่มีประโยชน์โดนตัดทิ้งได้หมด
  • การปรับทัพเสริมทีมที่ผ่านมาก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีนัก ซึ่งทำให้เกิดคำถามย้อนกลับไปว่า นักเตะหลายๆคนที่อยู่ในทีมมีค่ากับสโมสรมากกว่าคนที่ทุกคนเคารพรักอย่างเฟอร์กี้งั้นหรือ?

แต่ปรากฏว่าคนที่มีข่าวว่าถูก “ปลด” ก่อนกลับเป็น เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตำนานผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่ง โอลด์ แทรฟฟอร์ด แทนเสียอย่างนั้น 

 

ถึงแม้ว่าบทบาทของ “เฟอร์กี้”​ ที่ถูกตัดไปจะเป็นแค่บทของทูตสโมสร (Global Club Ambassador) และผู้อำนวยการสโมสร (Club director)  แต่การเลือกแนวทางปฏิบัติเช่นนี้กับคนที่เรียกได้ว่าเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่สโมสรจนมีวันนี้ได้ก็นำไปสู่คำถามที่น่าสนใจ

โดยเฉพาะแนวทางการบริหารภายใต้กลุ่มใหม่ INEOS ที่นำโดย เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของอังกฤษ คิดดีและทำถูกแล้วใช่ไหม?

 

เบื้องหลังการปลดเฟอร์กี้

ตลอดช่วงเวลา 26 ปีที่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน บรมกุนซือชาวสกอตแลนด์คุมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เขาไม่เคยถูกปลดจากตำแหน่งมาก่อน โดยแม้จะเคยมีช่วงเวลาสุ่มเสี่ยงที่จะกระเด็นจากเก้าอี้แต่สุดท้ายก็กลายเป็นผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยการพาทีมคว้าแชมป์ได้ถึง 38 รายการ

แต่ในวัย 82 ปี เฟอร์กี้กลับโดนสโมสรปลดจากตำแหน่งเป็นครั้งแรก เรื่องราวหลังฉากนั้นไม่ถึงกับเป็นเรื่องดราม่าอะไรมากมาย ตามรายงานข่าวจาก The New York Times เปิดเผยว่าคนที่ขอแจ้งเรื่องนี้ต่อตำนานผู้จัดการทีมคือตัวของเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ ในฐานะเจ้าของร่วมสโมสร ที่ได้แจ้งด้วยวาจาต่อหน้าเซอร์ อเล็กซ์ ด้วยตัวเอง ไม่ได้เป็นการแจ้งทางโทรศัพท์หรือส่งจดหมายไฟฟ้าที่จะเป็นการไม่สมเกียรติแต่อย่างใด

 

เจ้าของ INEOS ได้แจ้งต่อ เซอร์ อเล็กซ์ ว่าจะขอยุติสัญญาที่เฟอร์กีทำไว้กับสโมสรในบทบาท Global Club Ambassador ที่ทำไว้กับสโมสรในปี 2013 ภายหลังจากตัดสินใจวางมือจากการคุมทีม โดยสัญญาจะยุติอย่างเป็นทางการเมื่อสิ้นสุดการแข่งขันพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ในเดือนพฤษภาคม 2025 แต่จะยังคงตำแหน่งบอร์ดบริหารที่ไม่มีอำนาจการตัดสินใจในสโมสรอยู่เพื่อเป็นเกียรติ 

 

ตามรายงานแล้วการพูดคุยระหว่างสองฝ่ายเป็นไปด้วยความเข้าใจ เฟอร์กี้เข้าใจและยอมรับการตัดสินใจนี้ เพียงแต่การตัดสินใจนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มคนที่รักแมนฯ ยูไนเต็ด และรักเซอร์ อเล็กซ์อย่างมาก

หมิ่นเกียรติตำนาน ทำลายจิตวิญญาณสโมสร

หนึ่งในเสียงที่ดังที่สุดที่แสดงออกว่าไม่พอใจคือ เอริค คันโตนา ตำนานกองหน้าชาวฝรั่งเศส เจ้าของสมญา “The King” ซึ่งเป็นขุนพลคู่ใจของเซอร์ อเล็กซ์ ในยุคแรกของการครองความยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอลอังกฤษ 

“เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สมควรที่จะทำอะไรก็ได้ในสโมสรจนกว่าจะถึงวันที่เขาจากไป” ก็องโต้โพสต์ข้อความบน Instagram ส่วนตัว

“นี่มันคือการไม่ให้เกียรติกันอย่างรุนแรง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จะเป็นเจ้านายของผมตลอดไป!”

ขณะที่ นิก มิลเลอร์ นักเขียน The Athletic ตั้งคำถามถึงการตัดสินใจของ INEOS ในเรื่องนี้ โดยเปรียบเทียบภาพใหญ่ให้เห็นว่า รายได้ตามสัญญาของเฟอร์กี้อยู่ที่ปีละ 2.16 ล้านปอนด์ ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้รวมของสโมสรตามการประกาศในปีที่ผ่านมา 662 ล้านปอนด์แล้วคิดเป็นเพียงรายได้ 0.3 เปอร์เซ็นต์ของสโมสร

แม้จะมีความเข้าใจว่าสโมสรต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุดเพราะสถานะทางบัญชีของสโมสรกำลังใกล้ขั้นวิกฤติและเสี่ยงต่อการทำผิดกฎการเงิน Profit and Sustainability rule (PSR) ที่อาจจะทำให้โดนลงโทษตัดแต้มได้ในอนาคต แต่การตัดสินใจลดรายจ่ายตรงนี้แทบไม่น่าจะมีผลอะไรในการช่วยเรื่องบัญชีของแมนฯ ยูไนเต็ดมากนักหรือเปล่า และคำถามสำคัญที่สุดคือมันคุ้มค่าไหมสำหรับการตัดสินใจ “ตัด” ลมหายใจและจิตวิญญาณของสโมสรอย่างเซอร์ อเล็กซ์

ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าสโมสร

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ INEOS ได้พยายามปรับปรุงโครงสร้างภายในสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด ใหม่หลังจากที่เข้ามารับช่วงการบริหารต่อจากครอบครัวเกลเซอร์และพบถึงความไม่สมเหตุสมผลในหลายอย่าง โดยเฉพาะจำนวนพนักงานที่มากเกินความจำเป็นเกินไป

นั่นเป็นเหตุให้สิ่งแรกๆที่ INEOS ทำคือการสั่งลดจำนวนคนลงถึง 250 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นร่วม 1 ใน 4 ของจำนวนทีมงานทั้งหมดของสโมสร ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบภายในองค์กรอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการลดรายจ่ายทุกด้าน ซึ่งรวมถึง “สิทธิประโยชน์” ที่พนักงานเต็มเวลาของสโมสรเคยได้รับ เช่น ที่พักและการเดินทางในกรณีที่สโมสรเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วย ไปจนถึงเรื่องของการยกเลิกงานเลี้ยงปีใหม่

อีกทั้งยังเรียกร้องให้ทุกคนกลับเข้ามาทำงานที่สโมสร เพราะมองว่าการทำงานจากบ้านทำให้ทุกคนไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพนัก โดยที่ไม่ง้อด้วยหากใครไม่พอใจให้ยื่นใบลาออกได้เลย

สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นภายในองค์กรอย่างมาก เพราะไม่เพียงแค่ต้องเห็นเพื่อนร่วมงานบางคนต้องโดนบีบให้ออกแล้ว ยังทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านการบริหารของ INEOS และการตัดสินใจบนความไม่สมเหตุสมผลนัก เช่น เรื่องการให้กลับเข้าทำงานในสำนักงาน ทั้งๆที่บางงานก็ไม่ได้เป็นงานที่ต้องเข้าสโมสรมาแต่ไหนแต่ไร อีกทั้งสถานที่ทำงานเองก็ไม่ได้มีความพร้อมที่จะรองรับคนจำนวนร่วมพันคนที่จะเข้างานพร้อมกัน

กรณีของเซอร์ อเล็กซ์ อดีตผู้จัดการทีมชาวสกอตแลนด์เองก็เคยเศร้าใจกับการที่ต้องเห็นคนที่เคยร่วมงานด้วยเป็นจำนวนมากต้องหายหน้าไปจากกันจากการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร

ก่อนที่จะกลายเป็นอีกคนที่ถูกตัดออกจากสโมสร โดยแม้ว่าจะยังเหลือชื่อตำแหน่งและยังสามารถเข้ามาชมเกมในสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ดได้เหมือนเดิม

แต่การตัดสัญญาของเฟอร์กี้ ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่ต่างอะไรจากเงินบำนาญเพื่อตอบแทนความดีความงามที่ทำให้แก่สโมสร เปลี่ยนแมนฯ​ ยูไนเต็ดให้กลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษและของโลก คล้ายเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างถึงคนทำงานในสโมสรทุกคน ไม่มีใครที่ยิ่งใหญ่กว่าสโมสร ใครไม่มีประโยชน์โดนตัดทิ้งได้หมด ต่อให้เป็นยอดคนอย่างเซอร์ อเล็กซ์ก็ตาม

คำถามและความท้าทายของ INEOS

การตัดสินใจปลดเซอร์ อเล็กซ์ จากสัญญา Global Club Ambassador อาจจะไม่มีผลอะไรเปลี่ยนแปลงมากมายนักต่อสโมสรในภาพใหญ่ เพราะโดยบทบาทแล้วเฟอร์กี้ในวัย 82 ปีก็ไม่ได้ถูกมอบหมายให้ทำงานอะไร

แต่มันจะย้อนกลับมาเป็นคำถามและความท้าทายในการบริหารงานของทีมผู้บริหารชุดปัจจุบัน เพราะจากนี้พวกเขาจะไม่มีเกราะหรือโล่ใดๆจะช่วยปกป้องในทางอ้อมแล้ว เมื่อตัดสินใจแบบนี้ก็ย่อมแบกรับความกดดันและความท้าทายในการบริหารงานให้ดีที่สุด

แมนฯ ยูไนเต็ด เองก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมากนักไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลงานในสนามที่ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 14 ในพรีเมียร์ลีก ผลงานเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี และเรื่องนอกสนามเองแม้ว่า INEOS จะพยายามดึงคนฝีมือดีเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะ แดน แอชเวิร์ธ ผู้อำนวยการกีฬาที่ถือเป็นมันสมองระดับประเทศ

แต่การปรับทัพเสริมทีมก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีนักกับการลงทุนร่วม 200 ล้านปอนด์ในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งมันจะทำให้เกิดคำถามย้อนกลับไปว่า นักเตะหลายๆคนที่อยู่ในทีม ทั้งคนที่รับค่าเหนื่อยมหาศาล และค่าตัวแพงระยับ นักเตะเหล่านี้มีค่ากับสโมสรมากกว่าคนที่ทุกคนเคารพรักอย่างเฟอร์กี้งั้นหรือ?

หนทางเดียวที่ INEOS จะพิสูจน์ว่าพวกเขาทำถูกแล้วคือการพาสโมสรกลับมายืนหยัดอย่างสง่างามด้วยการทำผลงานในสนามให้ดีที่สุด โดยคนที่ฝ่ายบริหารชุดนี้เชื่อใจคือ เอริค เทน ฮาก ที่ยังรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้เหนียวแน่น 

 

 

อ้างอิง