ราคาทองทุบสถิติใหม่ปิดเหนือ 2,800 ดอลลาร์ครั้งแรก
ราคาทองฟิวเจอร์พุ่ง 19.70 ดอลลาร์ ปิดเหนือ 2,800 ดอลลาร์ ได้เป็นครั้งแรก หลังนักลงทุนรุกซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยช่วงใกล้เลือกตั้ง
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดพุ่งขึ้นทะลุระดับ 2,800 ดอลลาร์ ได้เป็นครั้งแรกในวันพุธที่ 30 ต.ค.67 เนื่องจากความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 19.70 ดอลลาร์ หรือ 0.71% ปิดที่ 2,800.80 ดอลลาร์/ออนซ์
- ราคาทองสปอต (Spot Gold) พุ่งขึ้นทุบสถิติใหม่ที่ 2,789.73 ดอลลาร์/ออนซ์ ระหว่างการซื้อขาย ก่อนจะย่อตัวลงอยู่ที่ 2,788.87 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อเวลาประมาณ 20.55 น. วานนี้
ดาเนียล พาวิโลนิส นักกลยุทธ์การตลาดจากบริษัท RJO Futures กล่าวว่า "ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย.67 รวมทั้งสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และแนวโน้มที่เฟดจะเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ โดยเราคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ราคาทองจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 2,850 ดอลลาร์ ในไม่ช้านี้"
ทางด้านโดมินิก สเปอร์เซล นักวิเคราะห์จากบริษัท Heraeus Metals Germany คาดการณ์ว่า ราคาทองคำอาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 3,000 ดอลลาร์ภายในปี 2568 เนื่องจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทองคำเป็นปัจจัยหนุนตลาด
สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า อุปสงค์ทองทั่วโลกพุ่งขึ้น 5% สู่ระดับ 1,313 ตัน ในช่วงไตรมาส 3/2567 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยรับแรงหนุนจากการลงทุนที่แข็งแกร่งจากชาติตะวันตก และเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทองคำในไตรมาส 3
WGC คาดว่า ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นต่อไป เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมทั้งการที่รัฐบาลสหรัฐ เผชิญกับการขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐ ในวันนี้ เวลาประมาณ 19.30 น.ตามเวลาไทย โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้า และบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ส่วนในวันพรุ่งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐ จะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนต.ค. โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 111,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 254,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.1% ในเดือนต.ค.
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์