ECB ลดดอกเบี้ยส่งท้ายปี 0.25% เฉพาะปีนี้ยุโรปหั่นไปแล้ว 4 รอบ
ธนาคารกลางยุโรปประกาศหั่นดอกเบี้ย 0.25% ส่งท้ายปีตามความคาดหมาย หลังเงินเฟ้อขยายตัวได้ตามคาด ปีนี้ลดแล้ว 4 ครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ทำเซอร์ไพรซ์หั่นดอกเบี้ย 0.5% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ (12 ธ.ค.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อในปีหน้า หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มยูโรโซนขยายตัวเพียง 2.3% ในเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา
ในปี 2567 นี้ ECB ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากระดับ 4% เมื่อต้นปี จนลงมาเหลือ 3.00% ในปัจจุบัน จากการลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ระหว่างเดือน มิ.ย.-ต.ค. และครั้งล่าสุดในวันนี้
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนพ.ย. ขยายตัว 2.3% เมื่อเทียบรายปี โดยเป็นไปตามคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่สำรวจโดยโพลล์ของรอยเตอร์ และปรับตัวขึ้นจากที่ขยายตัว 2.0% ในเดือนต.ค.
แบงก์ชาติสวิสลดดอกเบี้ย 0.5%
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ก็ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% โดยนับเป็นปรับลดมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์จะหั่นเพียง 0.25% และยังเป็นการปรับลดต่อครั้งที่มากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อต่ำกว่าคาดการณ์และค่าเงินฟรังก์สวิสที่แข็งค่า ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสวิสลดลงมาอยู่ที่ 0.5% หรือระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2022
ก่อนหน้านี้รอยเตอร์ได้สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กว่า 85% คาดการณ์ว่า SNB จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2567 นี้ ธนาคารกลางสวิสลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วทั้งหมดรวม 4 ครั้ง
ธนาคารกลางสวิส ระบุว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ได้คลี่คลายลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินในครั้งนี้ รวมทั้งปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงจากการประเมินครั้งก่อนหน้า โดยระบุว่าอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มน้ำมันและอาหารมีระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ พร้อมคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายปีจะอยู่ที่ 1.1% ในปี 2567, 0.3% ในปี 12568 และ 0.8% ในปี 2569 โดยสมมติฐานที่ใช้ในการคาดการณ์ครั้งนี้คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่อยู่ที่ระดับ 0.5% ตลอดระยะเวลาที่คาดการณ์
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อสวิสจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.6% ในเดือนตุลาคมมาอยู่ที่ 0.7% ในเดือนพฤศจิกายน แต่ค่าเงินฟรังก์สวิสกลับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงสถานะของฟรังก์สวิสที่ยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน
ทั้งนี้ ฟรังก์สวิสก็อาจเผชิญแรงกดดันให้ค่าอ่อนค่าลง เนื่องจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าธนาคารกลางสวิส และสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐที่มีความไม่แน่นอน ทำให้เงินทุนไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น