ลดทุนผูกขาด 'พลังงาน' คำสัญญานายกฯ แพทองธาร
รัฐบาลลุยนโยบายลดทุนผูกขาดด้าน "พลังงาน" ถือเป็นคำสัญญานายกรัฐมนตรี "แพทองธาร ชินวัตร" ในเวทีแถลงผลงานรัฐบาล 3 เดือน
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลดำเนินงานรัฐบาลรอบ 3 เดือน และมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีให้ข้าราชการระดับสูง ภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง 2025 Empowering Thais: A Real Possibility จากผลงานที่เป็นรูปธรรม สู่อนาคตที่ทำได้จริง” เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2567 ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลงานของรัฐบาลปัจจุบันเป็นผลงานต่อเนื่องมาจากการบริหารงานของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลปัจจุบันทำงานผ่านความร่วมมือของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้าราชการ เพื่อประชาชนมาแล้ว 90 วันเต็ม
สำหรับนโยบายแก้ปัญหาผูกขาดที่เป็น 1 ใน 11 นโยบายที่นายกรัฐมนตรีประกาศ โดยเป็นนโยบาย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การผูกขาดเพิ่มต้นทุนให้ประชาชนและประชาชนยากจนลง ซึ่งรัฐบาลจะเร่งปลดล็อกการผูกขาด โดยเฉพาะการผูกขาดการส่งออกข้าวที่ตั้งเป้าให้เกษตรกรทุกคนและผู้ค้าข้าว SMEs ส่งออกข้าวไปทั่วโลกได้เอง
รวมทั้งการปลดล็อกการผูกขาดราคาพลังงานด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย เพื่อปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าและค่าพลังงานให้ถูกลง ซึ่งมีประเด็นค่าผ่านท่อก๊าซที่คิดค่าเสื่อมมานานแล้ว แต่ยังมีการคำนวณจึงต้องไปแก้ไขส่วนนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินการควบคู่กับการผลักดันนโยบายไฟฟ้าสะอาด เพื่อสนับสนุนการลงทุน โดยมอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดำเนินการ
รายงานข่าวระบุว่า ตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ของนายพีระพันธุ์ จะเดินหน้าออกกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1. กฎหมายกำกับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 2. กฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และ 3. การออกกฎหมายการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) ตั้งเป้าหมายว่า 2 ฉบับแรกจะเข้าสภาฯ ได้ภายในปีนี้ ส่วนฉบับที่ 3 จะเข้าสภาฯ ปี 2568 เมื่อกฎหมายทั้งหมดบังคับใช้จะสร้างความเป็นธรรมด้านพลังงานให้ประชาชน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ไม่มีกฎหมายกำกับดูแล ปล่อยให้ผู้ค้าน้ำมันกำหนดราคาเอง
นายพีระพันธุ์ ได้ระบุไว้าว่า การแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงอยู่ที่การรู้ต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริงทำให้ทราบถึงปัญหาที่จะต้องแก้ไข และได้นำไปดำเนินการต่อ ดังนั้น การรื้อระบบการค้าน้ำมันต้องยกร่างกฎหมายใหม่ให้ครบวงจร โดยขณะนี้ได้ยกร่างต้นฉบับกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย
โดยกฎหมายฉบับนี้ จะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงของต้นทุนน้ำมัน โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งหมายถึงระบบที่คิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง เข้าใช้แทนการอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ และมีอีกหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน กฎหมายฉบับนี้จะดูแลไปถึงเรื่องของการจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย
ทั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง เพราะถือเป็นการค้าเสรีอย่างแท้จริง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเอง ถ้าหากผู้ประกอบการสามารถจัดหาน้ำมันมาใช้เองได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาจำหน่ายหน้าปั๊ม ก็สามารถดำเนินการได้เลย จะทำให้ต้นทุนน้ำมันของเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการขนส่งลดลงได้ทันที เมื่อผู้ประกอบการสามารถจัดหาน้ำมันได้ในราคาถูก ต้นทุนก็จะลดลง และเมื่อลดภาระเรื่องราคาน้ำมันแล้ว ก็ต้องลดราคาสินค้าให้ประชาชนด้วย
สำหรับการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงจะต้องจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) โดยรัฐบาลจะต้องมีคลังจัดเก็บน้ำมันสำรองในเบื้องต้น 90 วัน หรือประมาณ 9,000 ล้านลิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง อยู่ระหว่างจัดเตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสํารองน้ำมันของประเทศ หลักการคือ จะนำน้ำมันสำรองนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเปลี่ยนกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงิน และสร้างหนี้สาธารณะ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศต่อไป คาดว่าจะสามารถแล้วเสร็จในปี 2568
ส่วนกรณีเกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีการเปิดประมูลเกี่ยวกับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ นั้น นายพีระพันธุ์ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์
ทั้งนี้ โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์นั้น เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์ โดยในโครงการหลัง 3,600 เมกะวัตต์นี้ กกพ. จะแบ่งการรับซื้อหรือการประมูลออกเป็น 2 โครงการย่อย คือ โครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ และโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์
โดยโครงการแรกที่รับซื้อไฟฟ้าประมาณ 2,100 เมกกะวัตต์นั้น ปัจจุบัน กกพ. กำหนดให้สิทธิ์ผู้ที่เคยเข้าประมูลในโครงการ 5,200 เมกะวัตต์ แต่ไม่ชนะการประมูลเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นประมูล แต่อยู่ในขั้นตอนเตรียมการยังไม่มีการประมูลเกิดขึ้น ซึ่งตนและกระทรวงพลังงานไม่เห็นด้วยจึงได้สั่งให้ชะลอการเปิดรับซื้ออกไปก่อน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานกำลังปรับปรุง กฎ ระเบียบ เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เป็นการลดความยุ่งยากในการผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบของพี่น้องประชาชนจากค่าครองชีพหรือค่าไฟฟ้า
ในขณะที่การเปิดให้สิทธิเอกชนซื้อขายไฟสะอาดได้เอง หรือ Direct PPA จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ จะต้องทำอย่างรอบคอบ และค่อยเป็นค่อยไป เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ยังมีความเห็นต่างในหลายประเด็น