ดาวโจนส์ ร่วง 9 วันติด ไหลลงนานสุดในรอบ 54 ปี

ดาวโจนส์ ร่วง 9 วันติด ไหลลงนานสุดในรอบ 54 ปี

ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ร่วงลงต่อเนื่อง 9 วัน ลดลงยาวนานที่สุดนับแต่ปี 1978 จากที่นักลงทุนเริ่มกังวลนโยบายทรัมป์อาจจะไม่ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นอย่างที่คิดไว้ก่อนหน้านี้

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ Dow Jones Industrial Average เข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวันอังคาร (17 ธ.ค.) หรือเมื่อคืนที่ผ่านมาตามเวลาในไทย โดยร่วงลงติดต่อกัน 9 วันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1978

  • ดัชนีดาวโจนส์ ร่วงลง 267.58 จุด หรือ 0.61% ปิดที่ 43,449.90 จุด 
  • ดัชนี S&P 500 ลดลง 0.39% ปิดที่ 6,050.61 จุด 
  • ดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 0.32% ปิดที่ 20,109.06 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงติดต่อกัน หลังจากปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือ 45,000 จุดเมื่อต้นเดือน

ความผิดปกติของดัชนีดาวโจนส์เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดโดยรวมกำลังไปได้ดี โดย ดัชนี S&P 500 พุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม และปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าระดับดังกล่าวน้อยกว่า 1% ส่วนดัชนี Nasdaq พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็น ประวัติการณ์เมื่อวันจันทร์ (16 ธ.ค.)

ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงคือ เงินไหลเข้าสู่หุ้นเทคโนโลยี แต่หุ้นเศรษฐกิจเก่าบางตัวถูกเทขายหลังจากที่พุ่งขึ้นในเดือนพฤศจิกายนจากปัจจัยว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งใหม่ หุ้นเศรษฐกิจเก่าเหล่านี้มีอิทธิพล เหนือดัชนีดาวโจนส์มากกว่าหุ้นเทคโนโลยี

แม้ดัชนี Dow จะลดลงในช่วงนี้ แต่หุ้นบลูชิปกลับเพิ่มขึ้น 16% ในปีนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ดัชนียังสูงขึ้นประมาณ 1,500 จุด (3.5%) เมื่อเทียบกับวันเลือกตั้ง นักวิเคราะห์บางคนมองวว่าแค่เป็นการเทขายทำกำไรไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของตลาด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แปลกก็คือ Nvidia ซึ่งเป็นหุ้นน้องใหม่ในดัชนีเทคโนโลยีของ Dow ที่เข้าร่วมดัชนีเมื่อเดือนพฤศจิกายนก็ประสบปัญหาเช่นกัน แม้ว่าราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ราคาหุ้น Nvidia เข้าสู่โหมดการปรับฐานใหม่เมื่อวันจันทร์

หุ้น Tesla พุ่งขึ้นอีกครั้งในวันอังคาร แม้ว่า Broadcom จะร่วงลง 3.9%

“วอลล์สตรีทกำลังตื่นขึ้นจากความจริงที่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะไม่ส่งผลดีต่อหุ้นอย่างที่หลายคนคาดหวัง” เดวิด รัสเซลล์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาดโลกของโบรกเกอร์  TradeStation กล่าว 

“กลุ่มการเงินและอุตสาหกรรมกระโจนเข้าใส่ชัยชนะของเขา แต่ตอนนี้พวกเขาอาจต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนของการค้า และหุ้นกลุ่มธุรกิจดูแลสุขภาพต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา”

ความกังวลบางส่วนที่ผลักดันให้เกิดการเทขายทำกำไรในหุ้นที่ไม่ใช่กลุ่มเทคโนโลยีนั้น เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในวันพุธนี้ โดยผู้ซื้อขายกำลังประเมินโอกาส 95% ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามเครื่องมือติดตามเฟด Fed Watch ของ CME Group อย่างไรก็ตาม มีความกังวลในหมู่นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ว่าธนาคารกลางอาจกำลังทำผิดพลาด และเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นหรือทำให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

“กลุ่มที่ไล่ตามซื้อหุ้น 7 นางฟ้า (Mag 7) กำลังเร่งทำผลงานครั้งสุดท้ายเพื่อเข้าสู่สิ้นปี 2024 ในเดือนธันวาคมนี้ โดยปล่อยทิ้งหุ้น S&P 500 ที่เหลืออยู่ข้างตลาดและกดดันดัชนี Dow ให้ตกต่ำ” เจฟฟ์ คิลเบิร์ก ซีอีโอของกลุ่มบริษัทให้บริการทางการเงิน KKM Financial กล่าว

ยอดค้าปลีกพ.ย. ดีกว่าคาด

ตัวเลขยอดขายปลีกเดือนพฤศจิกายนออกมาดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ ซึ่งเพิ่มความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจกำลังดำเนินการที่ไม่จำเป็น

สำนักงานสำมะโนประชากรรายงานเมื่อวันอังคารเดียวกันว่า ผู้บริโภคใช้จ่ายเกินคาดในเดือนพฤศจิกายนและยังคงสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ยอดขายปลีกปรับตามฤดูกาลเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในเดือนตุลาคม และดีกว่าที่บริษัทสื่อ Dow Jones ประมาณการไว้ที่ 0.5% หากไม่รวมยานยนต์ ยอดขายเพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าประมาณการ 0.3% เล็กน้อย ยอดขายรถยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 2.6% ขณะที่การช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้น 1.8% ยอดขายสินค้าเบ็ดเตล็ดลดลง 3.5%

เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 3.8% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่ 2.7%