MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 17 - 21 เมษายน 2566
เงินบาทขยับอ่อนค่า ขณะที่ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่า แต่ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณอ่อนแอ
• SET Index ร่วงลงแรงเกือบตลอดสัปดาห์ หลังไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทผันผวนในกรอบอ่อนค่า แต่ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนปลายสัปดาห์
เงินบาทมีแรงหนุนช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวน หลังจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของจีนออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่ภาพรวมในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชีย เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกจากท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งหนุนการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC วันที่ 2-3 พ.ค.นี้ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิทั้งหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ตามการฟื้นตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ปรับเพิ่มขึ้น และยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค. ที่หดตัวลง
ในวันศุกร์ที่ 21 เม.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพุธก่อนหน้า (12 เม.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 17-21 เม.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 3,827 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตร 22,610 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 13,628 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 8,982 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (24-28 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.00-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมถึงตัวเลขการส่งออกและรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมี.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภคเดือนเม.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามจีดีพีไตรมาส 1/66 ของสหรัฐฯ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
หุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆต้นสัปดาห์ ตามตลาดหุ้นภูมิภาค ก่อนจะร่วงลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน ประกอบกับตลาดประเมินว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในการประชุมช่วงต้นเดือนพ.ค. ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง สำหรับสัปดาห์นี้ หุ้นไทยปรับตัวลงทุกอุตสาหกรรม โดยกลุ่มพลังงานร่วงลงหนักสุด เนื่องจากมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันในตลาดโลกย่อตัวลง อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มแบงก์มีแรงซื้อคืนช่วงท้ายสัปดาห์ หลังแบงก์หลายแห่งรายงานผลประกอบการล่าสุดค่อนข้างดี แม้ระหว่างสัปดาห์จะเผชิญแรงกดดันจากประเด็นการปล่อยสินเชื่อแก่บริษัทรายหนึ่งซึ่งเลื่อนส่งงบการเงิน
ในวันศุกร์ (21 เม.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,558.36 จุด ลดลง 2.15% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 51,348.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.42% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.77% มาปิดที่ระดับ 519.24 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,540 และ 1,520 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 1/66 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนมี.ค. รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของยูโรโซน รวมถึงกำไรบริษัทอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ของจีน