วิเคราะห์แนวโน้มตลาด : บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง เตรียมพร้อมลุ้นผลโหวตนายกรัฐมนตรี
ทางเทคนิค คาด SET Index เคลื่อนไหวออกด้านข้าง เพื่อรอลุ้นผลโหวตนายกรัฐมนตรี แนวรับ 1,492/1,485 จุด แนวต้าน 1,505/1,520 จุด ทั้งนี้ สัญญาณทางเทคนิคยังไม่ยืนยันว่าเป็นทิศทางขาขึ้น
โดยสัญญาณ Buy Signal รอบใหม่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อดัชนีฯ สามารถยืนเหนือระดับ 1,520 จุด เพื่อสร้างรูปแบบ Up Channel ไปทดสอบแนวต้าน 1,570 จุด
ปัจจัยทางเศรษฐกิจวันนี้ มีจำนวนน้อยและไม่มีนัยมากนักต่อตลาด โดยตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของ EU ผ่าน ZEW Economic Sentiment Index เดือน ก.ค. (Consensus คาดแย่ลงเป็น -17 เทียบกับเดือน มิ.ย. ที่ -10) สะท้อนความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอียู ยังคงมีความเป็นไปได้สูง (Consensus คาด EU 2Q23E GDP เติบโต -0.1% QoQ เท่ากับ 1Q22) เป็นผลลบต่อหุ้นท่องเที่ยวไทย อาทิ MINT SHR ฯลฯ ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดจะให้ความสนใจต่อสุนทรพจน์ Fed St.Louis Bullard ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง (Hawkish) แต่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดจากัด เนื่องจากไม่มีสิทธิโหวตในการประชุมปีนี้
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ตลาดให้ความสนใจสูงสุด คือ ปัจจัยการเมือง โดย 8 พรรคร่วมจะมีการนัดหารือกันวันนี้ ที่รัฐสภา เวลา 9.30 น.โดยจะมีการสอบถามถึงจำนวนเสียงสนับสนุนของส.ว. ที่แกนนำพรรคก้าวไกลยืนยันเสมอว่ามีจำนวนเพียงพอ (ปัจจัยบวก ซึ่งจะเป็น Positive Surprise คือ คุณพิธา จากพรรคก้าวไกล สามารถได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 ก.ค. ส่วนปัจจัยลบ คือ การกังวลต่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล เพื่อกดดัน ส.ว. และส.ส. อื่น ๆ ให้มาสนับสนุนคุณพิธา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในการโหวตครั้งต่อไป) ทั้งนี้ เราคาดว่า ผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะเกิดขึ้นวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.ค. จะมีการเสนอชื่อให้สภาฯ พิจารณาเพียงคนเดียว คือ นายพิธา ลิ้มเจริญกุล โดยมี 8 พรรคร่วม จำนวน 312 เสียงสนับสนุน ส่วนอดีตพรรคร่วมรัฐบาล คาดว่าจะไม่เสนอคู่แข่งในการโหวตครั้งนี้ ขณะที่ผลการโหวต (อิงจากกระแสตลาดในปัจจุบัน) มีแนวโน้มที่คุณพิธา จะไม่สามารถได้รับคะแนนสนับสนุนเกินหนึ่งของรัฐสภา (>376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง) ภายใต้กระแสสนับสนุนของส.ว. ที่คาดว่าจะมีจำนวนไม่ถึง 64 เสียง และการส่งสัญญาณจาก ส.ส. ต่างพรรค อาทิ พรรคภูมิใจไทย ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประกาศไม่สนับสนุน นายกฯ ที่มีการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึง การกำหนดวาระการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี ไว้ล่วงหน้าอีก 2 ครั้ง คาดว่าจะเป็นวันที่ 19 ก.ค. และอีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์ต่อไป ส่วนผลกระทบต่อดัชนีฯ เราประเมินดัชนีฯ เหมาะสมอยู่ที่ 1,589 จุด ส่วนกรณี Worst Case Scenario ดัชนีฯ จะมีขาลงไปที่ 1,450 จุด (ดูรูปที่ 1) โดยหุ้นอิงนโยบายรัฐ เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มสาธารณูปโภค ฯลฯ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงสุด หากมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกหรือลบ
กลยุทธ์ลงทุน แนะนำ หุ้นกลุ่มธนาคาร อาทิ TTB SCB บนคาดการณ์ผลการดำเนินงาน 2Q23E จะเติบโตดีขึ้น YoY, QoQ และแนะนำ WHA จากการเป็นหุ้นกลุ่มปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงเชิงลบต่อปัจจัยพื้นฐานมากนัก แม้จะมีความเสี่ยงด้านการเมือง
Strategic daily picks
WHA ปิด 4.66 บาท/แนวรับ 4.54 บาท แนวต้าน 4.80 บาท
คาดการกำไรสุทธิ 2Q23 ที่ 981 ล้านบาท เติบโต YoY ตามการลงทุนที่มากขึ้น ผสานภาคการผลิตที่ขยายตัว โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายหนึ่งที่มีความต้องการที่ดินในไทยขนาด 500-600 ไร่ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วง 2H23 ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายรายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมปี 2023 ที่ 1.75 พันไร่ (ในประเทศ 1.2 พันไร่ และเวียดนาม 550 ไร่) และตั้งเป้าหมายรายได้รวมในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2023-27) ที่ 1 แสนล้านบาท เติบโตกว่า 1.4 เท่าตัว และคงเป้ารักษาอัตรากำไร EBITDA ที่ 40% ขณะเดียวกัน Consensus ประมาณการกำไรปี 2023 ที่ 4.12 พันล้านบาท (+1.8% YoY)
TTB ปิด 1.54 บาท/แนวรับ 1.49 บาท แนวต้าน 1.64 บาท
คาดการกำไรสุทธิใน 2Q23 ที่ 4.31 พันล้านบาท (+25% YoY) และคาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตได้เล็กน้อย QoQ เป็นผลบวกจาก NIM ปรับตัวขึ้นตามดอกเบี้ยลอยตัว แต่อาจไม่มากเท่ากับธนาคารขนาดใหญ่ เนื่องจากธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่เป็นดอกเบี้ยคงที่ราว 30% ทั้งนี้ Consensus ยังคงคาดการณ์รายได้ดอกเบี้ยในปี 2023 จะปรับตัวดีขึ้น ตาม NIM ที่ได้รับผลบวกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและกลยุทธ์ที่เน้นสินเชื่อในกลุ่ม High Yield มากขึ้น ดังนั้น Consensus จึงประมาณการกำไรสุทธิปี 2023 ที่ 1.63 หมื่นล้านบาท
SCB ปิด 108.50 บาท/แนวรับ 106.00 บาท แนวต้าน 112.50 บาท
คาดผลการดำเนินงานจะแข็งแกร่งขึ้นทั้ง QoQ, YoY ใน 2Q23 จากอานิสงส์ของแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ช่วยผลักดันให้ NIM ดีขึ้น กอปรกับ Credit Cost จะเสถียรภาพขึ้น หลังตั้งสำรองมากแล้วใน 1Q23 นอกจากนี้ สินเชื่อเดือน พ.ค. 2023 เพิ่มขึ้น 1.1% MoM สูงสุดในกลุ่ม และคาดจะเพิ่มขึ้นได้ต่อในเดือน มิ.ย. 2023 แต่คาด NPL ในไตรมาสนี้อาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้ จากไตรมาสก่อนที่ลดลงเหลือ 3.3% ทั้งนี้ Consensus ประมาณการกำไรสุทธิปี 2023 ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท +13% YoY จากการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง และเริ่มรับรู้รายได้แบบเต็มปีจากธุรกิจใหม่