กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ : บล.เคจีไอฯ ตลาดเข้าสู่ช่วงไซด์เวย์ หลังร่วงหนัก

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ : บล.เคจีไอฯ ตลาดเข้าสู่ช่วงไซด์เวย์ หลังร่วงหนัก

ตลาดน่าจะเทรดไซด์เวย์ เพราะขณะนี้ risk กับ reward ของตลาดหุ้นดูแล้วสมดุลกัน

ในสัปดาห์ที่แล้ว (23 – 27 ตุลาคม) ตลาดหุ้นไทยยังลงต่ออีก และ หลุดลงไปต่ำกว่าแนวรับทางจิตวิทยาที่ 1,400 จุด ซึ่งเป็นไปตามมุมมองรายสัปดาห์ของเรา ท่ามกลางปัจจัยลบสองสามประการ ปัจจัยแรก คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกดีดตัวขึ้น เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ในขณะที่ผลประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐออกมาอ่อนแอ โดย GDP สหรัฐใน 3Q66 ขยายตัว 4.9% QoQ SAAR ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้ ปัจจัยที่สอง คือหุ้นกลุ่มธนาคารของไทย ซึ่งแม่วาผลประกอบการ 3Q66 จะออกมาดี แต่ยังคงเผชิญแรงเทขาย ‘sell on fact’ เพราะนักลงทุนบางรายมองว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย และ NIM ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารไทยอยู่ที่จุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยรอบนี้แล้ว ปัจจัยที่สาม คือหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับผู้บริโภคเผชิญความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน digital wallet หลังจากที่มีข่าวออกมาว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาปรับเกณฑ์ใหม่ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ที่เข้าเกณฑ์ลดลง

สำหรับในสัปดาห์นี้ (30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน) เราคาดว่าดัชนี SET น่าจะพักฐาน เนื่องจากปัจจัย และลบสมดุลกันพอดี โดยในส่วนของปัจจัยบวก ราคาหุ้นในตลาดไทยชี้ว่าดัชนีมี downside จำกัดแล้ว (EYG ระยะยาว และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ 3.40% ชี้ว่า downside ของดัชนีอยู่ที่ 1,360) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเศรษฐกิจโลก และ สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีความไม่แน่นอน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอาจจะเพิ่มขึ้นอีก ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง และ FOMC มีท่าที hawkish ในการประชุมตัดสินนโยบายการเงินในวันพุธนี้

ส่วนสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางทวีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่อิสราเอลเปิดฉากบุกโจมตีภาคพื้นดิน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะตลาดการเงินในสัปดาห์นี้จะได้รับผลกระทบจาก premium ที่สูงขึ้นของปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

ติดตามผลการประชุม FOMC, ตัวเลขเศรษกิจสหรัฐที่สำคัญสำหรับเดือนตุลาคม และ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกันยายนของไทย

ปัจจัยต่างประเทศ: ในฝั่งสหรัฐ นักลงทุนควรติดตาม i) ผลการประชุม FOMC ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่ง consensus คาดว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 5.50% และอาจจะยังคงท่าทีพร้อมปรับนโยบายตามตัวเลขเศรษฐกิจ (data-dependent) ii) ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในเดือนตุลาคม อย่างเช่น ISM ภาคการผลิตอุตสาหกรรม และ ตัวเลขการจ้างงานรายเดือน ส่วนที่ญี่ปุ่น BoJ ก็มีกำหนดจัดประชุมในวันที่ 30-31 ตุลาคม ซึ่งอาจจะมีการพูดถึงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าช่วงนี้

ปัจจัยในประเทศ: นักลงทุนควรติดตาม i) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนกันยายนที่ ธปท. จะเผยแพร่ในวันที่ 31 ตุลาคม และ ii) กระแสข่าวเรื่องมาตรการ digital wallet โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะกำหนดเกณฑ์ผู้ที่เข้าข่ายได้ร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามงบ 3Q66 ของบริษัทนอกกลุ่มการเงิน ซึ่งจะเริ่มมีการประกาศออกมาคึกคักมากขึ้นตั้งแต่สัปดาห์นี้ไป

 

เน้นไอเดียเทรดแบบ bottom-up ไปก่อนในช่วงที่ตลาดโดยรวมน่าจะยังพักสร้างฐาน

เนื่องจากเรามองว่าตลาดน่าจะพักฐานในสัปดาห์นี้ เราจึงมองว่าหุ้น large-cap ส่วนใหญ่น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบ และมองว่าธีมเทรดที่น่าจะสนใจ ประกอบด้วย i) หุ้นโรงพยาบาลที่คาดว่าผลประกอบการ 3Q66 จะออกมาแข็งแกร่ง อย่างเช่น BDMS* และ BH* ii) โอกาสในการเข้าเก็งกำไรในหุ้นไฟแนนซ์จากความคาดหมายว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรกำลังถึงจุดสูงสุด ซึ่งในธีมนี้เราชอบหุ้น SAWAD* และ iii) หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง (บริษัทที่มี
สัดส่วนรายได้จากสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก) ซึ่งได้แก่หุ้น TU* และ RBF