เวสต์เทกซัส 81.02 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 87.41 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (1 พ.ย. 66) ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง จากความคลายกังวลของสถานการณ์ในตะวันออกกลางรวมถึงตัวเลขการผลิตของโอเปคที่ปรับเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส และ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับลดลง เนื่องจากตลาดกังวลด้านอุปทานในตะวันออกกลางน้อยลง หลังมีข่าวว่ากลุ่มฮามาสเตรียมปล่อยตัวประกันชาวต่างชาติเพิ่มเติม หลังจากบางประเทศเข้ามาเจรจาผ่านตัวกลาง นอกจากนี้ รายงานตัวเลขการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคก็ปรับเพิ่มขึ้น 180,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ต.ค. 66 จากการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของไนจีเรียและแองโกลา
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตหดตัวลงในเดือน ต.ค. 66 สู่ระดับ 49.5 จากระดับ 50.2 ในเดือน ก.ย. 66 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจจะอยู่ที่ระดับ 50.2 โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว ในส่วนดัชนี PMI ภาคบริการก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.6 ในเดือน ต.ค. 66 จากระดับ 51.7 ในเดือน ก.ย. 66
+/- สำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในเขตยูโรโซนเดือน ต.ค. 66 จะลดลงอยู่ที่ระดับ 2.9% (ต่ำสุดในรอบ 2 ปี) จากระดับ 4.3% ในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ววันนี้
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังฟิลิปปินส์มีนโยบายเพิ่มอัตราส่วนผสมเอทานอลในน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น 20% ตามความสมัครใจ จากเดิมที่บังคับไว้ที่ 10% เพื่อลดราคาน้ำมันเบนซินในประเทศ นอกจากนี้ โรงกลั่นฯ Formosa ในไต้หวันมีแผนจะกลับมาดำเนินการผลิต (บางส่วน) อีกครั้งในเดือน พ.ย. 66 ภายหลังจากการปิดซ่อมบำรุง
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังแนวโน้มการใช้น้ำมันในภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลข้อมูลด้านเศรษฐกิจจีน ภายหลังตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) หดตัวลงสู่ระดับ 49.5 ในเดือน ต.ค. 66 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนอยู่ในภาวะหดตัว