เวสต์เทกซัส 79.19 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 83.47 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (19 ก.พ. 67) ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (19 ก.พ. 67) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน
+ ราคาน้ำมันดิบ ปรับเพิ่ม จากความตึงเครียดของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์กล่าวว่า ได้ยิงจรวดหลายสิบลูกใส่เมืองทางตอนเหนือของอิสราเอล เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการสังหารพลเรือน 10 คน ทางตอนใต้ของเลบานอน ในขณะที่กองกำลังอิสราเอลได้บุกเข้าโจมตี โรงพยาบาลนัสเซอร์ (Nasser) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดในฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 5 ราย นอกจากนี้ ภัยคุกคามบริเวณทะเลแดงก็ยังคงน่าเป็นห่วง หลังจากมีการยิงขีปนาวุธจากเยเมน โจมตีเรือบรรทุกน้ำมันดิบที่มุ่งหน้าไปยังอินเดีย
+ รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ยอดการค้าปลีกของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 0.8% ซึ่งมากที่สุดในรอบ 10 เดือน ซึ่งแสดงถึงการชะลอตัวลงของการใช้จ่ายของผู้บริโภค กระตุ้นความคาดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วๆนี้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง จะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของผู้บริโภค และส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น
+ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ก.พ. ลดลง 2 แท่น อยู่ที่ระดับ 497 แท่น ในขณะที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติปรับคงที่ ที่ระดับ 121 แท่น อย่างไรก็ตาม แท่นขุดเจาะทั้งหมดยังต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 18% หรือคิดเป็นจำนวนที่ลดลง 139 แท่น
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ จากการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนไปยังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงหนุนจากอุปทานของมาเลเซียที่ลดลงกว่า 3.21% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซล ทรงตัวในขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่ม จากการปรับเพิ่มขึ้นของน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ 35.63% สู่ระดับ 9.55 ล้านบาร์เรล แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันดีเซลของอินโดนีเซียต่ำกว่าที่คาด