เวสต์เทกซัส 78.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 82.08 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (11 มี.ค. 67) ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากความกังวลอุปสงค์จีนชะลอตัว
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (11 มี.ค. 67) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส และ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับลด จากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันดิบของจีน แม้ว่าเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาจีนได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2567 ที่ประมาณ 5% แต่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่เกินจริงโดยไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกจากนี้ แม้ว่าการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของปีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 แต่ก็ยังอ่อนแอกว่าเดือนก่อนหน้าเช่นกัน แสดงถึงแนวโน้มอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงของจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของโลก
-/+ การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.พ. 67 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานก็เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเติบโตของค่าจ้างก็ชะลอตัวลง ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะไม่เร่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. 67
+ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 8 มี.ค. 67 ลดลง 2 แท่น อยู่ที่ระดับ 504 แท่น ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ ก.พ. 67 ในขณะที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติปรับลดลง 4 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 115 แท่น
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นของอียิปต์ อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินของอินเดียในเดือน ก.พ. 67 ลดลงกว่า 2.48% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากการปรับลดลงของน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ 1.82% สู่ระดับ 9.99 ล้านบาร์เรล ลดลงจากการแตะระดับสูงสุดในรอบสามเดือน นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลง หลังอินเดียยกเลิกการส่งออกน้ำมันดีเซลจำนวน 2 ลำ