Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 13 January 2025
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวหลังได้รับแรงหนุนจากมาตรการคว่ำบาตรและสภาพอากาศที่หนาวเย็นในสหรัฐฯ และยุโรป ท่ามกลางสัญญาณชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72-82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 - 17 ม.ค. 68)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวหลังยังคงได้รับแรงหนุนจากมาตรการการคว่ำบาตรเรือบรรทุกน้ำมันรัสเซียและอิหร่านจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน สภาพอากาศที่หนาวเย็นในสหรัฐฯ และยุโรปส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้น หนุนราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรปได้ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังคงจับตาการกลับมาเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ในวันที่ 20 ม.ค. นี้ที่คาดว่าอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
• อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังตลาดคาดการณ์ว่าชาติตะวันตกมีแผนเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการส่งออกน้ำมันของรัสเซียและอิหร่านหลังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด บริษัทชานตง พอร์ท กรุ๊ปของจีนประกาศห้ามเรือขนส่งน้ำมันที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรเข้าเทียบท่าเรือในเครือที่บริษัทดำเนินการอยู่ ขณะเดียวกัน บริษัท Saudi Aramco มีการปรับเพิ่มราคาขายน้ำมันดิบ Arab Light ที่ส่งมอบเดือน ก.พ. 68 นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สะท้อนสภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่คาดว่าจะตึงตัวมากขึ้น
• ตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ปรับเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นทั้งในฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยล่าสุด เกิดพายุหิมะถล่มหลายพื้นที่ในสหรัฐฯ ส่งผลให้หลายพื้นที่เผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะเดียวกัน อุณหภูมิในญี่ปุ่นเดือน ม.ค. 68 คาดว่าจะปรับตัวลดลงเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาสำหรับทำความร้อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี สภาพอากาศที่หนาวเย็นอาจส่งผลให้เกิดสภาพอากาศหนาวเย็นเฉียบพลัน (cold snap) ซึ่งส่งผลให้การดำเนินการของโรงกลั่นต้องหยุดชะงักลงได้
• ตลาดคาดธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนโยบายทางการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 ม.ค. 68 หลังมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนีซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของยุโรปปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.9% ในเดือน ธ.ค. 67 ขณะที่ Eurostat เผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (HICP) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนเดือน ธ.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.4% ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปที่ 2.0% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างจำกัด และกดดันความต้องการใช้น้ำมันให้ปรับตัวลดลง
• นอกจากนี้ ตลาดคาดการร์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจชะลอแผนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 67 ที่บ่งชี้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสู่ระดับ 2.7% ขณะที่ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแอหลังออโตเมติกดาต้าโพรเซสซิ่ง (ADP) เผยการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 122,000 ตำแหน่ง นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน แม้ว่าก่อนหน้านี้ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานปรับเพิ่มขึ้นกว่า 259,000 ตำแหน่งสู่ระดับ 8.1 ล้านตำแหน่งในเดือน พ.ย. 67 ส่งผลให้หลาย
ฝ่ายคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมนโยบายทางการเงินในช่วงครึ่งปีแรกของปี 68 และพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงราว 0.25-0.50% ในช่วงครึ่งปีหลังของ 68 ซึ่งปรับลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 1.0%
• ตลาดยังคงจับตาการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีการเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 68 โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่านโยบายต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้าจากแผนการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศต่างๆ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ตลาดการเงินก็ยังคงมีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินกลับไปยังสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายการต่างประเทศที่คาดว่าจะตึงเครียดต่อเนื่องทั้งในตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก ทั้งนี้ การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุปทานและอุปสงค์น้ำมันดิบและสร้างความผันผวนให้กับราคาน้ำมันในตลาดโลก
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 67 ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนียอดขายปลีก ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 67 ดุลการค้า เดือน พ.ย. 67 และดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 67 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 4/67 ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน ธ.ค. 67 ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 67 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 67 และอัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 67
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 ม.ค. 68)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.61 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 76.57 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 79.76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.84 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจีนซึ่งถือเป็นผู้นำเข้าและใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลกได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การอนุมัติงบประมาณ 1 แสนล้านหยวนเพื่อสนับสนุนโครงการเชิงยุทธศาสตร์ การปรับขึ้นค่าแรงราชการ และการประกาศเพิ่มเงินทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่ฝั่งอุปทานได้รับแรงหนุนหลังมีการเปิดเผยตัวเลขการผลิตน้ำมันดิบเดือน ธ.ค. 67 จากผู้ผลิตกลุ่มโอเปคปรับลดลง 50,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกัน Goldman Sachs คาดอุปทานน้ำมันดิบอิหร่านปรับลดลง 3 แสนบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 3.25 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 2/68 หลังคาดว่าสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาได้รับแรงกดดันหลังสหรัฐฯ เผยยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 67 ปรับลดลงกว่า 0.4% เทียบเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 10.3% ของมูลค่าเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นของโรงกลั่นจีนช่วง ม.ค.-พ.ย. 67 ที่ปรับลดลงกว่า 1.8% มาอยู่ที่ระดับ 14.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 3 ม.ค. 68 ปรับลดลง 0.96 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 414.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 0.2 ล้านบาร์เรล