ก.ล.ต.เดินหน้าสร้างอีโคซิสเตม ดึงเทคโนโลยี ดัน'ระดมทุนดิจิทัล'

ก.ล.ต.เดินหน้าสร้างอีโคซิสเตม   ดึงเทคโนโลยี ดัน'ระดมทุนดิจิทัล'

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานสัมมนา “SEC Capital Market Regional Seminar 2022“ ซึ่งในหัวข้อ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีผลต่อรูปแบบการระดมทุนในตลาดทุนไทยนั้น ”สิริวิภา สุพรรณธเนศ"รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้ฉายภาพถึงความสำคัญของการระดมทุุนรูปแบบดิจิทัลในตลาดทุนไทย

สิริวิภา กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันในทุกมิติ   เพราะเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขข้อติดขัดในการบริการแบบเดิมๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง เวลาที่ลดลง และสะดวกรวดเร็ว ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลา 

สำหรับโลกของตลาดทุน ไม่ว่ารูปแบบการประกอบธุรกิจ รูปการระดมทุน  และการทำธุรกรรมในตลาดทุน มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามา  โดยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ระดมทุนเข้าถึงตลาดทุนได้รวดเร็ว และสะดวกมากขึ้น  

บทบาทหน้าที่ของก.ล.ต.ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะกำกับดูแลตลาดทุนเท่านั้น  แต่มีทำหน้าที่พัฒนาส่งเสริมให้มีสินค้าและนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการระดมทุนในตลาดทุนมากขึ้น  ก.ล.ต.ต้องติดตามศึกษาแนวโน้มเทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ก.ล.ต.สามารถมีบทบาทในการพัฒนาเพื่อทำให้ให้การระดมทุนในตลาดทุนมีประสิทธิภาพ 

โดยก.ล.ต.ได้มีการกำหนดแผนการส่งเสริมการระดมทุนในรูปแบบดิจิทัล อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของก.ล.ต. ปี 2565-2567   ในการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อในการระดมทุนดิจิทัล  ส่งเสริมให้เกิดอีโคซิสเตมในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้การระดมทุนสะดวกมากขึ้น 

ระดมทุนดิจิทัลมี 2 รูปแบบ

ปัจจุบันการระดมทุนในตลาดทุนไทยได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้โดยในการระดมทุน มี 2 รูปแบบ คือ Inversment-based Crowdfunding (คราวด์ฟันดิง) และInitial Coin Offering (ICO) 

โดยการระดมทุนทั้ง 2 รูปแบบ จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) และสตาร์ตอัป ให้มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง และสะดวกรวดเร็ว จากที่ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อก.ล.ต. เพียงแต่ต้องผ่านการคัดกรองจากFunding Protal  ขณะที่ฝั่งนักลงทุนเองก็จะมีทางผลิตภัณฑ์ในการลงทุนมากขึ้นสามารถกระจายการลงทุน และเข้าถึงการลงทุนได้สะดวกขึ้น ซึ่ง

การระดมทุนคราวด์ฟันดิง เป็นการระดมทุนจากประชาชนจำนวนมาก  ซึ่งเม็ดเงินลงทุนของผู้ลงทุนแต่ละรายจะไม่มาก  โดยเป็นลักษณะการขายหุ้น หรือ หุ้นกู้ ซึ่งเงินที่ผู้ระดมทุนได้จะไปใช้ในการขยายกิจการเดิม และธุรกิจใหม่  

ส่วนการระดมทุนICO เป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยโดยมีการกำหนดและบังคับสิทธิที่จะได้รับด้วย smart contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ช่วยลดขั้นตอนและความยุ่งยาก  

สำหรับการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 50.34% โดยยอดระดมทุนในเดือน ก.ค.2565 รวมอยู่ที่ 2,021.62 ล้านบาท จากปี 2564 ที่มียอดระดมทุนทั้งหมด 1,344.6 ล้านบาท จากภาคธุรกิจ SME และธุรกิจต่างๆสามารถมาเสนอขายหุ้นได้เยอะมากกว่าเดิม 

15 ราย หารือระดมทุน ICO

ขณะที่การระดมทุน ICO  ถือเป็นการพลิกโฉมรูปแบบการระดมทุนไปอย่างสิ้นเชิง ที่ผ่านมาผู้ระดมทุนที่ได้รับอนุญาตแล้ว 2 ราย คือ สิริฮับโทนเคน ในรูปแบบ Asset-backed Securities (ABS) และเดสตินีโทเคน  และขณะนี้ มีผู้ที่เข้ามาขอคำปรึกษาในการออก ICO Portal กับทาง ก.ล.ต.รวม 15 ราย ทั้งในรูปแบบของ Project baseed ICO เพื่อขยายโรงงาน เครื่องจักร แฟรนไชส์ร้านค้า และรูปแบบ Asset baacked ICO เพื่อลงทุนในโครงการอสังหาฯ หรือรายได้จากโรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด

รวมทั้งเมื่อเทคโนโลยีสามารถพัฒนาขึ้นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ มีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ดัดแปลงสินค้าที่ไม่มีสภาพคล่องหรือมีสภาพคล่องต่ำ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำหรือหลักทรัพย์ต่างๆ ให้มันอยู่ในรูปของโทเค็นดิจิทัลจะทำให้สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อยสู่การมีช่องทางในการเปลี่ยนมือได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และทำให้รูปแบบของการระดมทุนมีความโปร่งใสมากขึ้น และข้อดีคือการซื้อขายรูปแบบโทเคนดิจิทัลสามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยได้อย่างไม่จำกัด ทำให้ผู้ลงทุนก็สามารถเข้าถึงการระดมทุนด้วยจำนวนเงินที่มีได้

แบงก์ปรับโครงสร้างรับ‘ฟินเทค’

กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ‘ฟินเทค’คือ การนำเทคโนโลยีมาประสานเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่ ถือเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมทั้งเป็นโอกาสในการเรียนรู้ของสตาร์ตอัปต่างๆ และผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งการพัฒนาในครั้งนี้มาพร้อมกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่ยังน่ากังวล

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทยได้มีการปรับเชิงโครงสร้างให้มีความยืดหยุ่นขึ้น เพื่อตอบรับกับพันธมิตรต่างๆ ถือเป็นหนึ่งการร่วมลงทุนที่จะพัฒนารูปแบบทางการเงินและขยายช่วงทางในการเข้าถึงลูกค้า เพื่อให้ตามทันกับเทคโนโลยีจึงต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ เช่น บริษัทลูกอย่าง บริษัทคิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix)ที่ทำบริการ ICO Portal ให้กับบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย 

อย่างที่ได้เห็นกันในโปรเจกต์ของ “เดสตินีโทเคน” ที่ทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมหนังเติบโตขึ้นได้ในอีกทิศทางหนึ่ง ตอบโจทย์สิ่งที่พยายามสร้าง Real Value หรือคุณค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ดังกล่าว ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ดังกล่าว 

หวั่นความเสี่ยง

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือ ความกังวลในเทคโนโลยีทางเงิน ที่อาจเกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่จะสร้างความเสียหายมากกว่าที่ผู้บริโภครับรู้ว่ามีความเสี่ยงเบื้องต้น จากการสร้างราคาเทียมของสินทรัพย์ดิจิทัลและอาจรวมถึงการสแกม (Scam) การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต 

 ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแลในการสร้างความเชื่อมั่น จากการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ และกติกาในการกำกับว่าสินทรัพย์นั้นๆ เข้าข่ายสินทรัพย์ประเภทใด และต้องดูแลอย่างไร ซึ่งควรอยู่ในหลักเกณฑ์ความหมายของเทคโนโลยีมากกว่าด้านการเงิน และการสร้างความรับผิดชอบบนแพลตฟอร์ม DeFi ที่สามารถเจาะจงผู้ให้บริการที่สามารถรับผิดชอบหรือฟ้องร้องความเสียหายได้ในกรณีที่มีปัญหา ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภาคได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งการสร้างอินฟราสตรักเจอร์ให้กับระบบการเงินในประเทศไทยด้วย