สำรวจ 1 ปี 'เอลซัลวาดอร์' ใช้บิตคอยน์ ความเชื่อมั่นแผ่ว
หนึ่งปีก่อน เอลซัลวาดอร์เริ่มใช้บิตคอยน์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามการตัดสินใจของประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล ที่เป็นที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์มาก สำนักข่าวเอเอฟพีชวนสำรวจสถานการณ์เมื่อหนึ่งปีผ่านไป
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ช่วงสองสามเดือนแรกทุกอย่างดูเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ ประชาชนตื่นเต้นกับโอกาสใหม่ แต่มูลค่าบิตคอยน์ดิ่งเหวตั้งแต่นั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีล้มเหลว
มาเรีย อาไกวร์ เจ้าของร้านค้า วัย 52 ปี ในเมืองรีสอร์ทริมทะเลเอลซอนเต ศูนย์กลางสำคัญในการใช้บิตคอยน์กล่าวว่า ปีก่อนทุกสิ่งทุกอย่างไปได้สวย เมื่อมูลค่าบิตคอยน์เพิ่มขึ้นจาก 52,660 ดอลลาร์ ตอนเริ่มใช้เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2564 ขึ้นไปยืนอยู่เหนือ 68,000 ดอลลาร์อยู่ครู่หนึ่งในสองเดือนต่อมา
“แต่ตลอดห้าเดือนหลังราคามีแต่ตก” อาไกวร์กล่าว เธอยังคงรับบิตคอยน์ในการทำธุรกรรม
ในเดือน ก.ย. บิตคอยน์ราคาดิ่งลงไปอยู่ที่ไม่ถึง 20,000 ดอลลาร์เป็นส่วนใหญ่
แต่ที่เอล ซอนเต ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงซานซัลวาดอร์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 60 กิโลเมตร ใช้บิตคอยน์มาตั้งแต่ก่อนประธานาธิบดีบูเคเลตัดสินใจ เขาต้องการส่งเสริมให้ประชาชนใช้บิตคอยน์ เนื่องจากประชาชนเพียง 35% เท่านั้นที่มีบัญชีธนาคาร
เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกที่ยอมรับบิตคอยน์ใช้ได้ตามกฎหมายควบคู่กับดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นสกุลเงินทางการมาสองทศวรรษแล้ว
รัฐบาลถึงขนาดสร้างกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ “ชีโว” และให้เงินผู้ใช้แต่ละคนเทียบเท่ากับ 30 ดอลลาร์
ประธานาธิบดีบูเคเลกล่าวว่า ภายในเดือน ม.ค.มีการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันนี้แล้วสี่ล้านครั้ง ถือเป็นปริมาณที่น่าประทับใจในประเทศประชากร 6.6 ล้านคน แต่สามล้านคนไปใช้ชีวิตในสหรัฐ
แนวคิดของบูเคเลต้องการทำให้เชื่อมั่นได้ว่า เงินส่งกลับบ้านที่คิดเป็น 28% ของจีดีพีทีส่งผ่านแอพชีโว เสียค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินตราน้อยลง
แต่คาร์ลอส อาเซเวโด อดีตประธานธนาคารกลางอ้างถึงข้อมูลจากธนาคารว่า การส่งเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลมีไม่ถึง 2% เท่ากับว่าไม่มีประโยชน์
คาร์เมน มาเฮีย นักศึกษามหาวิทยาลัย วัย 22 ปี กล่าวว่า เธอใช้บิตคอยน์ในช่วงแรก “แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนี้ฉันไม่ไว้ใจมัน และลบแอพทิ้งไปแล้ว”
ความผันผวน
ตอนเปิดตัวแผนการของประธานาธิบดี รีสอร์ทของอาไกวร์ใช้บิตคอยน์มาได้แปดเดือนแล้ว
หลังจากมูลค่าบิตคอยน์ขึ้นไปช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.2564 บูเคเลประกาศสร้างเมืองบิตคอยน์ เมืองปลอดภาษีสำหรับคริปโทเคอร์เรนซีและเทคโนโลยีบล็อกเชนในอ่าวฟอนเซกา ใช้ไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพจากภูเขาไฟคอนชากัว
ในการจะสร้างเมืองนี้ บูเคเลเตรียมออกพันธบัตรบิตคอยน์ 1 พันล้านดอลลาร์ แต่แผนต้องเลื่อนออกไปเพราะตลาดคริปโทฯ ผันผวน คริปโทฯ อื่นที่เล็กกว่าล่มสลาย บิตคอยน์เองก็เสียหายหนัก ตามข้อมูลจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดีส์” เอลซัลวาดอร์เสียค่าใช้จ่าย 375 ล้านดอลลาร์ไปกับแผนการของบูเคเล
เพื่อฉวยประโยชน์จากมูลค่าร่วงลง เดือน ก.ค.บูเคเลขายบิตคอยน์ 80 หน่วยๆละ 19,000 ดอลลาร์ ทำให้เอลซัลวาดอร์ถือบิตคอยน์รวม 2,381 หน่วย ทั้งหมดซื้อมาเมื่อปีที่แล้ว
เดือน มิ.ย.เขาบอกผู้รักชาติ “จงหยุดดูกราฟ” พร้อมยืนยันว่าบิตคอยน์เป็นการลงทุนที่ปลอดภัยจะดีดกลับในภายหลัง
“ความอดทนคือกุญแจสำคัญ” ประธานาธิบดีกล่าว
ตื่นเต้นเล็กน้อย
แต่อาเซเวโดยืนกรานว่า การใช้บิตคอยน์ "ไม่เวิร์กเลย" และถึงบัดนี้ "เป็นการเดิมพันที่ล้มเหลวอย่างแท้จริง" แต่จะว่าไปก็ใช่จะล้มเหลวเสียทั้งหมด "เพราะมันอาจฟื้นตัวและพ้นจากฤดูหนาวคริปโทฯได้
อาเซเวโดกล่าวว่า บิตคอยน์ไม่ได้ตอบโจทย์ “การเงินที่ครอบคลุม” ของประธานาธิบดี และมูลค่าที่ลดลงส่งผลทางจิตวิทยาให้ประชาชนไม่มองแบบตื่นเต้นเหมือนเก่า
นอกจากนี้การใช้บิตคอยน์ยังทำให้ความพยายามกู้เงิน 1.3 พันล้านดอลลาร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยุ่งยาก ไอเอ็มเอฟไม่เห็นด้วยกับการใช้บิตคอยน์
เมื่อมีเสียงเตือนว่า เอลซัลวาดอาร์อาจผิดนัดชำระหนี้สาธารณะที่สูงเกิน 80% ของจีดีพี บูเคเลประกาศในเดือน มิ.ย. ถึงแผนการซื้อคืนพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566 และ 2568 โดยเขายืนกรานว่า ประเทศมีเงินพอให้ซื้อคืนได้ ซึ่งนั่นจะลดความเสี่ยงของประเทศลงจาก 35% เหลือ 25%
แต่อาเซเวโดกล่าวว่า เอลซัลวาดอร์จะไม่สามารถหวนกลับไปสู่ตลาดตราสารหนี้ได้จนกว่าตัวเลขจะลดลงเหลือ “อย่างน้อย 5%”
สำหรับชีทารา แฮสบัน พนักงานโรงแรมในเอล ซอนเต ยังคงคิดว่า บิตคอยน์เป็น “วิธีการชำระเงินที่ดี” แค่ “ต้องใช้เวลาเหมือนกับที่ให้กับดอลลาร์”