3 กูรู มองอนาคต DeFi เพิ่มโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินอย่างทั่วถึง

3 กูรู มองอนาคต DeFi  เพิ่มโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินอย่างทั่วถึง

3 กูรู DeFi จะไม่ใช่การแทนที่ระบบการเงินเก่า แต่เพื่อตัดระบบตัวกลาง ที่ลดต้นทุน และให้ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม DeFi ได้โฟกัสที่โปรดักส์ เพื่อมอบผลประโยชน์ที่ผู้ใช้ควรจะได้รับให้เต็มที่ มองระยะยาวคาดเห็นผลิตภัณฑ์จาก DeFi เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมากขึ้น

"ชานน จรัสสุทธิกุล" Co-Founder และ CEO ของ Forward Labs สตาร์ตอัพฟินเทคด้าน Blockchain ให้ความเห็นต่อประเด็น “DeFi กับ Traditional Finance ในระยะยาวจะเป็นอย่างไร” ในกิจกรรม Forward The Future To Young Generation : เส้นทางสายอาชีพในอุตสาหกรรม Blockchain ครั้งที่ 4 ว่า การเกิดขึ้นของ Decentralized Finance เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้ในหลาย ๆ มิติ

ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกิดจาก Traditional Finance ที่เกิดจากตัวกลางใดตัวกลางหนึ่ง มีส่วนต่างจากการให้บริการค่อนข้างสูง ในทางกลับกันผลประโยชน์ที่เกิดกับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์การเงินนั้น ๆ กลับไม่ได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากนัก

 

นวัตกรรมอย่าง DeFi จึงเกิดขึ้น เพื่อตัดระบบตัวกลางที่อาจจะสร้างต้นทุนในการดำเนินงานสูง ๆ นี้ออกไป และให้ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม DeFi ได้โฟกัสที่โปรดักส์ เพื่อมอบผลประโยชน์ที่ผู้ใช้ควรจะได้รับให้เต็มที่ จากการลดต้นทุนของการมีตัวกลางออกไป ซึ่งในระยะยาวหากไม่มีอะไรผิดพลาดเราน่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์จาก DeFi เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเรามากขึ้น

"ผศ.ดร. อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน"  Co-Founder และ Advisor ของ Forward Labs กล่าวเสริมว่า ระบบการเงินที่ไม่มีตัวกลางทำให้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างผู้กู้ กับผู้ปล่อยกู้ดูสมเหตุสมผล และไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบจากการกินส่วนต่างของตัวกลางเกินไป ได้มีโอกาสไปฟัง Talk นึง ซึ่งมีประโยคที่ฟังแล้วชอบ จำมาจนถึงทุกวันนี้ คือ “Banks are not necessary but Banking is” จึงมองว่าในอนาคตการทำธุรกรรมทางการเงินอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นผ่านธนาคารแล้วก็ได้ อาจจะเปลี่ยนรูปไปอยู่ในรูปแบบอื่น ซึ่งอาจจะเป็น Blockchain ก็ได้ หรืออย่างอื่นก็ได้

เรายังไม่รู้ แต่ในเรื่องของการมาแทนที่ธนาคารนั้น อยากให้มองอีกรูปแบบหนึ่งมากกว่า มีผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคารกล่าวไว้ว่า ถ้า DeFi จะมาจริง ๆ คนที่จะต้องเข้าไปยืนอยู่ในธุรกิจนั้นก่อนใคร คือ ธนาคาร ฉะนั้นการเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ทางการเงินในอนาคต จะเป็นการผสานกันทั้งรูปแบบการเงินแบบมีตัวกลาง และไม่มีตัวกลาง เป็นการผนวกเอาข้อดีของทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน เพื่อหาตรงกลางให้กับทุกฝ่าย

เนื่องจากถ้ามองตามความจริง เป็นไปไม่ได้เลยที่กลุ่มธนาคารจะปล่อยให้เกิดโลกการเงินกระจายศูนย์แบบเต็มรูปแบบ โดยที่เขาไม่อยู่ในกระบวนการ นี้ด้วย  ซึ่งหากเป็นจริงความเสียหายมันจะเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง รวมไปถึงเสียหายไปยังตลาดหุ้นด้วย มองว่าจากนี้ถ้า DeFi มันยังเวิร์ค จะค่อย ๆ เห็นการเปลี่ยนผ่าน และได้รับการยอมรับให้ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นเองจนเราไม่รู้สึกอะไร

"คิม - กานต์นิธิ ทองธนากุล" วิทยากรรับเชิญ เจ้าของเพจ Kim DeFi Daddy Co-Founder ของ Cryptomind Group และ CIO ของ Merkle Capital ได้ให้ความเห็นว่า เคยมีคนพูดไว้นานแล้วว่า DeFi จะกลายเป็นสิ่งที่ธนาคารต้องกลัว แต่ถ้าเราคิดเป็นเหตุเป็นผลกันดีดี จะไม่ใช่แบบนั้น DeFi ไม่ได้เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องกลัวเลย มันเป็นสิ่งที่ธนาคารสามารถนำมาพัฒนาหรือยกระดับบริการทางการเงินให้ดีขึ้นได้

ยกตัวอย่าง แพลตฟอร์ม DeFi ฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเจ้าหนึ่ง โดยสมมุติว่าแพลตฟอร์มนั้นมียอดฝากในแพลตฟอร์มอยู่ราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีพนักงานเขียนแพลตฟอร์มนี้แค่ 20 คนเท่านั้น ลองคิดในแง่เป็นเหตุเป็นผลกันอีกรอบ คนแค่ 20 คน ดูเเลเงินลูกค้ากว่าหมื่นล้านเหรียญ เขาดูแลสินทรัพย์ขนาดนั้นได้อย่างไร ทำไมผู้ใช้ถึงเชื่อ แต่เมื่อมาเทียบดูแล้ว ข้อดีที่เกิดขึ้นจากการทำแพลตฟอร์มแบบนี้ ส่งผลแน่ ๆ เลยคือต้นทุนของนักพัฒนาที่ลดความไม่จำเป็นลงไปอย่างมหาศาล ในขณะที่การทำธนาคารมีต้นทุนจิปาถะ ต้นทุนด้านสาขาอีกสาระพัด รวมถึงต้นทุนด้านแรงงานด้วย

ฉะนั้น DeFi จะกลายเป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่จะมาช่วยยกระดับการเงินเหล่านี้ให้ดีขึ้น ตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เพื่อนำไปโฟกัสในตัวผลิตภัณฑ์ รวมถึงมอบประโยชน์ไปสู่ผู้ใช้งานมากกว่าเดิม ซึ่งตรงนี้เอง มองว่าจะกลายเป็นตัวกลางที่ธนาคาร หรือ Centrazlied Finance กับ Decetrazlied Finance จะรวมผสานเข้าหากันได้ในอนาคตอย่างแน่นอน

กิจกรรม Forward The Future To Young Generation : เส้นทางสายอาชีพในอุตสหากรรม Blockchain ครั้งนี้ จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (BSD Chula) สามารถเข้าไปฟังแบบเต็ม ๆ ได้ที่แฟนเพจ Forward Labs