ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ Utility Token พร้อมใช้ หวังคุ้มครองผู้ลงทุน
ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ utility token พร้อมใช้ หวังคุ้มครองนักลงทุนที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่สับสน แบ่งเป็นกลุ่มอุปโภคบริโภค ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขออนุญาตก.ล.ต. และกลุ่มลงทุนในตลาดรองที่ต้องขออนุญาตกับก.ล.ต.
Utility Token พร้อมใช้ เป็นโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิในการใช้บริการ แลกสินค้า ภายใต้การกำกับภายใต้ พ.ร.ก. utility token พร้อมใช้จะได้รับการยกเว้น เพราะมองว่า เป็นเรื่องของการอุปโภคบริโภค แต่ด้วยปัจจุบันวิวัฒนาการ utility token พร้อมใช้ เริ่มมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ก.ล.ต.มีความกังวลต่อผู้ที่เข้าไปลงทุนในตลาดรองจะไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนเพียงพอ จึงมีการเฮียริ่งปรับเกณฑ์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคและนักลงทุนไม่สับสน
นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายนวัตกรรมทางการเงิน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า การกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ ในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อให้เกิดการใช้การใช้ประโยชน์ จึงแบ่งออกตามลักษณะการใช้งานออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก utility token ที่ไม่ได้มีลักษณะการเก็งกำไร แต่เป็นการได้สิทธิมาซึ่งสินค้า บริการ ในลักษณะของการอุปโภคบริโภค ซึ่งราคาสินค้าจะสอดคล้องกับการให้บริการ เช่น การวอชเชอร์ในรูปดิจิทัลที่ออกในรูปแบบโทเคน หรือการแลกบัตรคอนเสริต
รวมถึงแลกของในเกมในรูปแบบ NFT utility token หรือในโลกของเมตาเวิร์ส ในการแลกซื้อดาบ ซื้อไอเทม จะได้รับยกเว้นการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน และยกเว้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึง utility token พร้อมใช้ ที่ใช้แทนใบรับรอง หรือแสดงสิทธิต่าง ๆ เช่น ใบรับรองพลังงานทดแทน ใบกำกับภาษี และโฉนดที่ดิน ซึ่งไม่มีการซื้อขายบนกระดานซึ่งก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตกับทางก.ล.ต.
ประเภทที่ 2 เป็นกลุ่มที่มาแต่ดั้งเดิม เป็นเหรียญที่นำไปใช้งานบนบล็อกเชน หรือเป็นคริปโตแอสเสทเช่น เหรียญอิเธอร์เรียม คับคอยน์ บิททาซ่า หรือกานา จะอยู่ในกลุ่ม 2 ซึ่งมีความต่างจากประเภทแรก เพราะเมื่อมีการซื้อขายนักลงทุนจะมีความคาดหวังในการไปผูกกับ Exchange เหรียญนั้นจะมีการราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กลุ่มที่ 2 นี้ ไม่ว่าจะเป็น Native coin หรือ Governance Token จะต้องเข้ามาอยู่ในลิสที่ต้องเข้ามาขอใบอนุญาตกับทางก.ล.ต.เพื่อเสนอขายผ่าน ICO Portal
ทั้งนี้ utility token กลุ่มที่ 2 ถือว่าเป็นที่เข้ามาเก็งกำไรที่จดทะเบียนบนศูนย์ซื้อขายฯ ต้องได้รับอนุญาตการเสนอขายจาก ก.ล.ต. โดยผู้เสนอขายต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน รวมถึงรายงานงบการเงิน เหมือนหุ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูล และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 2 ปี 2566 นี้ แต่อย่างไรก็ตามในวันที่ 30 ม.ค. 2566 จะมีการเชิญผู้ประกอบการเข้ามาทำความเข้าใจ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาประมาณ 70 - 80 ราย ส่วน Investment token มีผู้ประกอบการประมาณ 15-20 ราย ที่รอยื่นไฟลิ่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอสังหาฯ และอินฟราสตักเจอร์หรือโครงสร้างพื้นฐาน
กฤษณ์ ตันติภิรมย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงิน ก.ล.ต.บอกเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการให้บริการ utility token พร้อมใช้กลุ่มที่ 1 และ กลุ่มที่ 2 ต้องให้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อประชาชนไม่สับสน utility token จะต้องไม่นำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน สื่อการชำระเงิน หรือโอนมูลค่าเพื่อชำระราคาสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดเป็นการทั่วไป หรือ Means of Payment
โดย utility token กลุ่มที่ 1 จะไม่เข้าข่ายเป็น MOP ตามแนวทางที่ ธปท. กำหนดและเป็นการให้บริการหรือสิทธิเฉพาะเจาะจงไว้อย่างชัดเจน ซึ่งต้องไม่ใช่การกำหนดสิทธิในการแลกเปลี่ยนเป็นเงิน หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงได้กำหนดจำนวนโทเคนดิจิทัลที่ต้องใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ไว้อย่างชัดเจน หากเสนอขายบนตลาดรองจะต้องไม่ใช้ราคาตลาดในการคำนวณเพื่อใช้สิทธิตามที่กำหนดไว้ และมีกลไกและกระบวนการที่ทำให้มั่นใจได้ว่า เมื่อผู้ถือโทเคนดิจิทัลใช้สิทธิแล้ว จะไม่สามารถนำกลับมาใช้สิทธิซ้ำได้อีก
ขณะที่ utility token กลุ่มที่ 2 จะไม่เข้าข่ายลักษณะเป็น MOP ตามแนวทางที่ ธปท. กำหนด หากผู้ออกเสนอขาย ได้มีการระบุสิทธิในการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง ที่ทำให้สามารถเข้าใจรายละเอียดของสิทธิที่ได้จากการถือ utility token ที่มีการชำระเป็นค่าธรรมเนียมการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของการทำธุรกรรม ,การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ , การมีสิทธิในการตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ,การมีสิทธิในการกำหนดทิศทางหรือตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ , การชำระหรือการใช้เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือโครงการ Centralized Finance (CeFi) ฯลฯ
ณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ให้ข้อมูลเสริมว่า ในมุมของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวกับข้องกับหลักเกณฑ์ของ utility token เป็นการหารือเรื่องแนวทางในการที่ไม่เป็นสื่อในการชำระราคา ในลักษณะ MOP เป็นหลักการเดิมที่ได้เกี่ยวข้องมาตลอด
โดย ธปท.ไม่อยากให้ดิจิทัลแอสเสทที่มีราคาผันผวนขึ้นลงเกี่ยวข้องกับการชำระค่าสินค้าและบริการทั่วไป เพราะถ้าทำแบบนั้นจะมีผลกระทบในเรื่องของราคาที่ผันผวนทำให้เกิดความเสี่ยงกับประชาชนที่ถือครอง token ร้านค้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อรับ token อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อกำไรและรายได้ได้ และถ้ามีการใช้ในวงกว้างอาจจะทำให้ผลกระทบในเรื่องของ ประสิทธิภาพนโยบายทางการเงิน