"เวอร์ชวลแบงก์"เนื้อหอม บจ.ไทยแห่ลงสนามคึกคัก
ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เป็นอย่างดี คือ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
เพราะทุกวันนี้ลูกค้าแทบไม่ต้องเดินทางไปที่แบงก์แล้ว เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งโอนเงิน จ่ายบิลค่าสินค้า บริการต่างๆ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ซื้อประกัน กองทุน หรือแม้กระทั่งกู้เงิน ได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้
โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ถูกดิสรัปอย่างหนักจาก “FinTech” แต่ละแบงก์ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล บทบาทของธนาคารค่อยๆ เปลี่ยนไป ทุกวันนี้ลูกค้าที่ใช้บริการผ่านสาขา ค่อยๆ ลดลง โดยเปลี่ยนมาทำธุรกรรมผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแทน เพราะสะดวกสบายกว่ากันเยอะ แบงก์จึงเริ่มทยอยปิดสาขา ปรับลดพนักงานลงต่อเนื่อง
เมื่อภูมิทัศน์ทางการเงินเปลี่ยนไป จึงเป็นที่มาของธุรกิจใหม่ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ “Virtual Bank” ที่จะนำบริการของแบงก์ทั้งหมดเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มคิกออฟเปิดให้บริการไปแล้วในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร, จีน, เกาหลีใต้, สิงค์โปร์, ฮ่องกง ฯลฯ
ส่วนในประเทศไทยใกล้จะมีการเปิดตัวแล้วเช่นกัน หลังล่าสุดแบงก์ชาติได้ประกาศหลักเกณฑ์และไทม์ไลน์การออกใบอนุญาต Virtual Bank เป็นที่เรียบร้อย โดยคุณสมบัติหลักๆ เช่น มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล โดยบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งจะมารายเดียว หรือ ร่วมทุนก็ได้ แต่ถ้าพันธมิตรเป็นต่างชาติต้องถือหุ้นไม่เกิน 25%
ทั้งนี้ แบงก์ชาติย้ำว่าเกณฑ์กำกับดูแล Virtual Bank จะเข้มข้นกว่าแบงก์พาณิชย์ปกติ เนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยกำหนดว่าหากระบบเกิดการขัดข้องต้องแก้ไขให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมง และไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี
ขณะนี้มีทั้งแบงก์และนอนแบงก์สนใจเข้าสู่ธุรกิจนี้กว่า 10 ราย แต่ในเฟสแรกจะให้ไลเซนส์ก่อนไม่เกิน 3 ราย เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่แบงก์ชาติอย่างติดตามอยากใกล้ชิด และเพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันมากจนเกินไป เบื้องต้นจะเปิดรับสมัครในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ จากนั้นใช้เวลาคัดเลือก 6 เดือน และขออนุมัติจากกระทรวงการคลังอีก 3 เดือน
และคาดประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกในไตรมาส 2 ปี 2567 และให้เวลาเตรียมความพร้อมอีก 1 ปี ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2568
Virtual Bank สร้างความตื่นตัวให้ผู้ประกอบการไทยอย่างมาก ทั้งธุรกิจธนาคารดั้งเดิม กลุ่มธุรกิจการเงินที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็แสดงความสนใจเช่นกัน แต่ที่ประกาศตัวเป็นรายแรก พร้อมลุยธุรกิจธนาคารไร้สาขา เห็นจะเป็นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB จับมือมากับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 ของไทย
คู่นี้หลายคนมองว่า เหมาะสมกันราวกับ “กิ่งทองใบหยก” โดย ADVANC มีฐานลูกค้ามือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านรวมกว่า 50 ล้านราย หลังพึ่งปิดดีลซื้อ 3BB ส่วน KTB มีความพร้อมทั้งจากฐานลูกค้าเงินฝาก และความเชี่ยวชาญด้านระบบการเงิน จากกาพัฒนาแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน”
ส่วนรายล่าสุดที่พึ่งเปิดตัว คือ กลุ่มบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่หวังอาศัยจุดแข็งจากทุกบริษัทในเครือลุยธุรกิจใหม่นี้เช่นกัน ทั้งฐานลูกค้าจากบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ความเชี่ยวชาญในการติดตามหนี้ของบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMTและเทคโนโลยีจากบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J Ventures) ที่สำคัญยังได้พันธมิตรใหญ่ KB Financial Group กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำจากเกาหลีใต้เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งอีกแรง
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีข่าวว่าแสดงความสนใจเช่นกัน ทั้งกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ “ซีพี” ที่ไม่น่าพลาด ด้วยความพร้อมจากเครือข่ายธุรกิจที่ครบวงจร รวมทั้งบรรดาบิ๊กแบงก์ของไทย รวมถึงผู้ประกอบการนอนแบงก์ก็คงไม่อยากตกขบวน
ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การเปิดให้บริการ Virtual Bank จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเงินทุนและระบบดิจิทัล โดยเฉพาะผู้ให้บริการโทรคมนาคม ลุ้นเป็น S Curve ใหม่ และเป็นจิตวิทยาบวกต่อผู้ที่มีแผนรุกธุรกิจดังกล่าว คือ ADVANC จากจุดแข็งด้านเทคโนโลยี บวกกับฐานลูกค้ามือถือ 45 ล้านราย และล่าสุด คือ JMART ที่มีจุดแข็งจากเครือข่ายของ SINGER, ผู้นำการตามหนี้ JMT เทคโนโลยี Blockchain, Digital Lending Platform และพันธมิตรธนาคารต่างประเทศ KB Kookmin