เทรนด์‘ตลาดคริปโท’จ่อขยับขึ้น ‘กูรู’ชี้เป็นจังหวะเข้าลงทุน
ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา “ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล”ได้เผชิญกับเหตุการณ์ร้ายๆ ถึงขั้นอวสาน ”เหรียญLUNA (Terra) และแพลตฟอร์มคริปโทฯFTX” จากเฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว
จนลามมาถึง "วิกฤติแบงก์รันในยุโรปและสหรัฐ”แน่นอนว่าในช่วงแรกส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์การลงทุนทุกประเภท รวมถึงตลาดคริปโทฯก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน
แต่หลังจากรัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆเข้ามาอุ้มวิกฤติแบงก์ดังกล่าว อย่างรวดเร็วในช่วง 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมาผลตอบแทน (YTD) การลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างตลาดคริปโทฯ โดยเฉพาะบิตคอยน์ผลตอบแทนพุ่งสูงสุด 68-70% ซึ่งมากกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น
สำหรับแนวโน้มตลาดคริปโทฯหลังจากนี้จะกลับแล้วหรือยังนั้น "พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว" ประธานเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน บริษัท คริปโตมายด์แอดไวเซอรี่ จำกัด มีมุมมองว่า ปัจจุบันตลาดคริปโทเคอร์เรนซียังไม่หลุดจากภาวะตลาดหมี แต่ราคาบิตคอยน์ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และมองว่าหลังจากนี้ยังจะเป็นขาขึ้นอย่างช้าๆ
ทั้งนี้จากสองเหตุการณ์วิกฤติแบงก์รันในสหรัฐและยุโรป และธนาคารกลางเข้ามาอุ้มอัดฉีดสภาพคล่องในระบบธนาคารอย่างรวดเร็วส่งผลให้ราคาบิตคอยน์ปรับตัวขึ้นมาเร็วยืนเหนือ 20,000 ดอลลาร์ ตั้งแต่ระดับ 22,000 ดอลลาร์จนถึง 29,000 ดอลลาร์
ดังนั้นแนวโน้มราคาบิตคอยน์ในระยะสั้นไตรมาส 2 ปีนี้ มองแนวรับ 25,000 ดอลลาร์ และแนวต้าน 30,000 ดอลลาร์และมีโอกาสทะลุ 30,000 ดอลลาร์ ได้หากเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง มองแนวต้านถัดไปที่ระดับ 34,000 ดอลลาร์ แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคเป็นหลักด้วย
“ปัจจุบันค่าเฉลี่ย MVRV ของบิตคอยน์อยู่ที่ 1.12 สะท้อนว่าตอนนี้ยังไม่หลุดพ้นตลาดหมี แต่มีโอกาสปรับขึ้น ถ้าหลุดระดับนี้ค่าเฉลี่ย MVRV จะวิ่งไปที่ 2 มองว่าตอนนี้เป็นจุดซื้อบิตคอยน์ที่ดี ที่ต้องเริ่มเก็บ และหากค่าเฉลี่ย MVRV มากกว่า 3 มองเป็นเริ่มมองจุดขายทำกำไร เพราะค่าเฉลี่ยMVRVอยู่ที่ 1-3.7 นั้น คนส่วนใหญ่จะมีกำไรและหากมากกว่า 3.7 จะมีกำไรอย่างมาก”
"มานะ คานิโยว" Head of Commercial & Investment Consultant บริษัท เมอร์เคิลแคปปิตอลจำกัด กล่าวว่า ในช่วง 1 เดือนครึ่งที่เกิดปัญหาวิกฤติแบงก์รันในสหรัฐและยุโรป แม้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆเข้ามาอุ้มได้เร็ว แต่ปัญหาดังกล่าวกระทบทั้งสินทรัพย์เสี่ยง และสินทรัพย์ทางเลือกอย่างคริปโทฯทั้งทางบวกและลบ
ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐยังมองหาจุดสมดุลไม่เจอ คาดว่าเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ได้ไม่มากแล้ว เพื่อประคองทุกส่วนโดยคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 1-2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ทำให้สิ้นปีนี้ อยู่ที่ 5.1% หลังจากนั้นก็จะคงดอกเบี้ย และค่อยๆปรับลด เพื่อประคองทุกส่วนของภาคการลงทุนจนเข้าจุดสมดุล
ขณะเดียวกันมองว่าตอนนี้เป็นจังหวะของการลงทุน คริปโทฯ เนื่องจากปัจจุบันค่าเฉลี่ยดัชนี MVRV ของราคาบิตคอยน์ต่ำกว่า 1 ถือว่าน่าเก็บ และหากปรับขึ้นมาที่ระดับ 1 -3.7 เป็นโอกาสที่น่าขายทำกำไร โดยกลยุทธ์การลงทุนคริปโทฯ แนะนำว่าต้องรีบาลานซ์พอร์ตเป็นประจำ เพื่อผลตอบแทนโดดเด่น ชนะตลาดโดยรวมได้
พร้อมกันนี้การลงทุนคริปโทศ ในพอร์ตยังสร้างผลตอบแทนที่ดี เราพบว่าการลงทุนที่มีความผันผวน 20%ของความเสี่ยง หากมีคริปโทฯอยู่ในพอร์ตร่วมกับหุ้นสามารถให้ผลตอบแทนระดับ 30% มากกว่าพอร์ตลงทุนที่หุ้นอย่างเดียวที่ให้ผลตอบแทน 25% หรือทองคำกับหุ้นให้ผลตอบแทนมากกว่า 2 5% แต่ไม่ถึง 30%
ปัจจุบันเรายังพบว่าเงินของนักลงทุนยังไหลเข้า และในปีนี้ “เมอร์เคิล แคปปิตอล” ยังคงตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) เติบโต 30% จากปัจจุบันที่ 1,500 ล้านบาท (AUM มีการเปลี่ยนแปลงตามราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาด) ล่าสุดบริษัทได้เปิดธีมการลงทุนใหม่ M-Next (Web 3) คือจะมีท็อปเหรียญของทุกเซ็กเตอร์มารวมกัน และหากเป็นธีมการลงทุนในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมายังให้ผลตอบแทนเป็นบวก
ดังนั้นอยากให้มองการลงทุนคริปโทฯเป็นระยะกลางถึงยาว และกระจายการลงทุนสินทรัพย์ในพอร์ตมีสัดส่วนคริปโทฯไม่เกิน 22% หุ้น 47.6% และบอนด์ 30.4%
"สัญชัย ปอปลี" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคริปโตมายด์แอดไวเซอรี่ จำกัด กล่าวว่า หลังจากนี้ตลาดคริปโทฯยังเป็นขาขึ้นอย่างช้าๆ และถึงแม้ตลาดคริปโทฯจะซบเซา แต่คนไทยให้ความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยมีประชากรที่มีความสนใจในสินทรัพย์ดีจิทัลจำนวนมาก
โดยมีUser Account ที่เปิดบัญชีกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กว่า 2.91 บัญชี โดยหากเทียบกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เปิดมา 47 ปีนั้น มีผู้เปิดบัญชีเพียงประมาณ 3.4 ล้านคน ซึ่งมากกว่าบัญชีคริปโทฯเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและประเทศไทยมีกฎหมายที่สนับสนุนธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล
ในปัจจุบันการพัฒนากฎหมายด้านสินทรัพย์ดีจิทัลไทยอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งทางหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องจึงพร้อมที่จะรับฟังและปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆเพื่อให้ภาคธุรกิจ และประชาชนได้ประโยชน์ เสริมสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มช่องทางการระดมทุนสำหรับธุรกิจ พร้อมกับคุ้มครองนักลงทุนให้แน่ใจว่าการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธรรมและโปร่งใส
สำหรับการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล คาดว่าน่าจะช่วยส่งเสริมธุรกิจมากขึ้นไปอีกในอนาคต และหนุนประเทศไทยจะเป็นฮับของสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ เป็นเพราะความตื่นตัวของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก จากเหตุการณ์ Black Swan ทั้งหมดในปี 2565 และเล็งเห็นถึงการพัฒนาของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2561 จึงต้องการปรับปรุงการกำกับดูแลให้เท่าทันความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศ รวมถึงรองรับการนำเทคโนโลยี DLT มาใช้ในภาคธุรกิจตามแบบประเทศสิงคโปร์ที่มองเป็นวาระหลักของประเทศ
“จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะได้เห็นกฎเกณฑ์ที่เป็นมิตรต่อการประกอบธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งในอนาคตต้องตามดูจะมีใบอนุญาตฯเพิ่มเติมอีกหรือไม่ อย่างล่าสุดจากวิกฤติแบงก์ในต่างประเทศ เพื่อป้องกันผลกระทบกำลังจะมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจครัสโตเดียนคริปโทในประเทศไทย ก็มีหลายคนสนใจ"