IMF พัฒนาแพลตฟอร์ม CBDC หนุนธุรกรรมข้ามพรมแดน

IMF พัฒนาแพลตฟอร์ม CBDC   หนุนธุรกรรมข้ามพรมแดน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินทั่วโลก ทำให้ IMF มีแผนประเมินแนวทางการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการทำข้อตกลงระหว่างธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับ CBDC

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินหลายแห่งต่างพากันสำรวจความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางแต่ละแห่งจะออกสกุลเงินดิจิทัล โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการใช้เงินสดที่ลดน้อยลงและความสนใจต่อสินทรัพย์คริปโทเคอร์เรนซีที่เพิ่มสูงขึ้น 

โทเบียส เอเดรียน ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและตลาดทุนของ IMF เผยในการประชุมที่ประเทศโมร็อกโกว่า กำลังพัฒนาแพลตฟอร์ม XC เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ข้ามพรมแดนทั่วโลก  ถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงรุกเพื่อให้การทำธุรกรรมทั่วโลกสอดคล้องกันในอนาคต โดยเบื้องต้นแพลตฟอร์มการชำระเงินใหม่รองรับในสกุลเงินดิจิทัล 3 ชนิด ได้แก่ Ripple (XRP), Stellar (XLM) และ CBDC 

ค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าและความเร็วในการทำธุรกรรมที่เร็วขึ้น เป็นจุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้ โดยในปัจจุบันต้นทุนการโอนเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 44 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ถือเป็นค่าธรรมเนียมอยู่ในระดับที่สูงมาก และสามารถลดต้นทุนการทำธุรกรรมได้มากกว่านี้ผ่าน CBDC

รวมทั้งมีการออกแบบเพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมได้และอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และมีการรักษามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดด้วยระบบ KYC เพื่อป้องกันการฟอกเงิน และการโจรกรรมทางไซเบอร์

 

ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าแพลตฟอร์ม XC จะช่วยธนาคารกลางในการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และสามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกระแสเงินทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งเป็นประโยชน์สำหรับการใช้งานส่วนบุคคลและสถาบัน ที่ก่อนหน้านี้สถาบันต่างๆ จำเป็นต้องเป็นเจ้าของบัญชีสำรองกับธนาคารกลางก่อนจึงจะสามารถทำธุรกรรมข้ามพรมแดนได้ แต่ด้วยแพลตฟอร์มใหม่นี้ ทำให้สามารถซื้อขายเงินสำรองของธนาคารกลางในประเทศที่เป็นโทเคนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการของ IMF กล่าวว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยหลีกเลี่ยงการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ที่ต่ำกว่ามาตรฐานได้ และ CBDC ไม่ควรเป็นข้อเสนอระดับชาติที่กระจัดกระจายเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความแตกแยกทางเศรษฐกิจมากไปกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องใช้ CBDC ในการอำนวยความสะดวกอย่างมีประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนทั่วโลก 

“ทำให้ IMF วางแผนจะเชื่อมต่อระบบการเงินในประเทศต่าง ๆ โดยนำเสนอแพลตฟอร์ม XC ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวยังได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับ CBDC ทั้งแบบค้าส่งและค้าปลีก” 

ธนาคารกลาง 114 แห่งทั่วโลกกำลังสำรวจการออกสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศและมีธนาคาร 10 แห่งที่บรรลุเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว เช่นใน บราซิล ธนาคารกลางยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และสิงคโปร์ แต่ยังมีธนาคารกลางอีกหลายแห่งที่ยังไม่ตัดสินใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลและการจัดการ CBDC ซึ่ง IMF จะติดตามการพัฒนาของ CBDC อย่างใกล้ชิด

จอร์จีวา กล่าวว่า “ศักยภาพสูงสุดที่ CBDC มีอยู่จะไม่ได้รับการใช้งานอย่างเต็มที่หากจำกัดการใช้งานไว้เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น” ทั้งนี้ IMF คาดหวัง50% ของประเทศทั่วโลกจะมี CBDC หมุนเวียน เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นในที่สุดแพลตฟอร์ม CBDC จะถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นย้ำให้ถึงความเสี่ยงของ CBDC ที่มีการออกแบบกฎระเบียบมาไม่รัดกุม จึงโน้มน้าวให้ประเทศต่าง ๆ ใช้กรอบการกำกับดูแลที่เป็นเอกภาพเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกัน

สำหรับความเคลื่อนไหวโครงการ CBDC ของประเทศไทย หรือ “บาทดิจิทัล” ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อนุญาตให้ 2 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทดสอบการใช้ Retail CBDC สำหรับประชาชนในวงจำกัด ระหว่างช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. 2566 ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทดลองให้มีการใช้จ่ายเงิน“บาทดิจิทัล” หรือ Retail CBDC แล้วในวงจำกัด ซึ่งนอกจากธนาคารทั้งสองแห่งยังมีบริษัททูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับอนุญาตอีกรายหนึ่งด้วย