การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบคริปโทฯ ทั่วโลกกลางปี 2566 

การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบคริปโทฯ ทั่วโลกกลางปี 2566 

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีความคล้ายคลึงกับอินเทอร์เน็ตที่เราทุกคนคุ้นเคยกัน อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก ทำงานเป็นโพรโทคอล (protocol) ที่ผู้ใช้งานในเครือข่ายสามารถใช้ในการสื่อสารถึงกันได้ในหลายๆ ทาง เช่น อีเมล เว็บบอร์ด และโซเชียลเน็ตเวิร์ก อินเทอร์เน็ตเปิดช่องทางและวิธีการใหม่ ๆ ในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล

ในรูปแบบที่คล้ายกันกับบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลและประมวลผลแบบกระจายศูนย์ ที่ผู้ใช้งานในเครือข่ายสามารถใช้ในการส่งต่อมูลค่าในรูปแบบที่ปราศจากการควบคุมโดยตัวกลาง ด้วยเหตุนี้ทำให้เทคโนโลยีบล็อกเชนมีโอกาสที่จะเป็นโพรโทคอลสำหรับการเงินโลก 

แต่ถึงแม้ระบบบล็อกเชนนั้นมีรูปแบบที่ปราศจากการควบคุมโดยตัวกลาง ในการทำงานหลายครั้ง ระบบบล็อกเชนยังจำเป็นต้องเชื่อมต่อและพึ่งพาระบบดั้งเดิม (legacy systems) รวมถึงยังจำเป็นต้องทำงานภายใต้กฎเกณฑ์และกฎระเบียบของประเทศที่ผู้ใช้งานอาศัยอยู่ และด้วยความที่บล็อกเชนยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปัจจุบันยังไม่มีกฎสากลระดับโลกที่ใช้ในการควบคุมเทคโนโลยีบล็อกเชนและอุตสาหกรรมคริปโทฯ ทำให้แต่ละประเทศได้วางกฎเกณฑ์และข้อปฏิบัติสำหรับประชากรของตนเอง ซึ่งในหลายประเทศยังปรับเปลี่ยนและมีการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง 

สหรัฐ

หนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมถึงการสร้างตลาดและระบบนิเวศของคริปโทฯ มาตลอด 14 ปีที่ผ่านมาคือสหรัฐอเมริกา ข้อมูลจากเว็บ Crunchbase รายงานว่า ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2566 มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมคริปโทฯ ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ มากกว่า 2,500 บริษัท อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปลายปี 2565 ทาง ก.ล.ต.สหรัฐฯ ได้เริ่มปราบปรามและควบคุมอุตสาหกรรมคริปโทฯ อย่างเข้มงวดมากขึ้นผ่านการใช้กำลังบังคับให้ปฏิบัติตาม ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้สินทรัพย์ดิจิทัลหลายรายการเป็นหลักทรัพย์โดยไม่มีแนวทางหรือข้อแนะนำที่ชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในสหรัฐฯ และเป็นเหตุที่ทำให้หลายบริษัทคริปโทฯ ในสหรัฐฯ เริ่มมองหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจในประเทศอื่น ๆ ที่มีความชัดเจนทางด้านกฎหมายมากกว่า 

ยุโรป

ทางด้านทวีปยุโรป รัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรปได้อนุมัติกฎระเบียบ MiCA (Markets in Crypto-Assets) ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่ควบคุมการออกและการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลและเหรียญ stablecoin โดย MiCA ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2566 เป็นข้อบังคับของสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นกฎหมายในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน โดยกฎบางข้อจะมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ค. 2567 และกฎอื่น ๆ ภายในเดือนม.ค. 2568 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกฎระเบียบสำหรับอุตสาหกรรมคริปโทฯ ที่สำคัญที่สุดในโลก 

MiCA แบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น 3 หมวดหมู่ 

1. Electronic money tokens (EMTs) เป็นเหรียญ stablecoin ซึ่งอ้างอิงราคาจากสกุลเงินสกุลเดียว 

2. Asset-referenced tokens (ARTs) เป็นเหรียญที่อ้างอิงมูลค่าจากสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ตะกร้าสกุลเงิน เป็นต้น 

3. เหรียญที่ไม่เข้าข่ายข้อ 1 หรือข้อ 2 เช่น utility token 

โดยเนื้อหาหลักของ MiCA เสนอมาตรฐานและกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กฎที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับ stablecoin และภาระหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลสำหรับธุรกิจคริปโทฯ รวมไปถึงการดำเนินการต่อต้านการฟอกเงิน (Anti-money laundering) และขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล 

ฮ่องกง

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ทาง ก.ล.ต. ฮ่องกง (SFC) ได้ประกาศระเบียบและกฎเกณฑ์ในการขอใบอนุญาตแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการแก่นักลงทุนรายย่อยอย่างเป็นทางการ (Virtual Asset Trading Platform Handbook) ซึ่งสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2566 จนถึง 29 ก.พ.2567 จากที่ก่อนหน้านี้อนุญาตให้เฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งต้องมีทรัพย์สินในพอร์ตการลงทุนอย่างน้อย 35 ล้านบาท (1.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

ภายใต้ระเบียบและกฎเกณฑ์ใหม่ แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินธุรกิจในฮ่องกงก่อนวันที่ 1 มิ.ย. 2566 จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก 12 เดือนจนถึง 1 มิ.ย. 2567 ภายใต้ข้อตกลง Transitional agreement ซึ่งหลังจากนั้นไปจำเป็นต้องมีใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจ 

ทั้งแพลตฟอร์มที่ดำเนินธุรกิจภายใต้ Transitional agreement และแพลตฟอร์มที่มีความประสงค์ที่จะยื่นขอใบอนุญาตจะต้องมี ‘การดำเนินการจริง’ และ ‘สถานที่ประกอบธุรกิจจริง’ ซึ่งปัจจัยที่ทาง ก.ล.ต. ฮ่องกง ใช้ในการตัดสินว่ามี ‘การดำเนินการจริง’ และ ‘สถานที่ประกอบธุรกิจจริง’ คือ 1. แพลตฟอร์มการซื้อขายเป็นบริษัทฮ่องกงหรือไม่ 2. มีสำนักงานในฮ่องกงหรือไม่ 3. แพลตฟอร์มการซื้อขายได้รับการจัดการและควบคุมโดยพนักงานสัญชาติฮ่องกงหรือไม่ 4 บุคลากรหลักมีถิ่นที่อยู่ในฮ่องกงหรือไม่ 5. มีลูกค้าและปริมาณการซื้อขายจริงในฮ่องกงหรือไม่ เป็นต้น 

อีกปัจจัยที่สำคัญภายใต้ Virtual Asset Trading Platform คือการที่ กรรมการ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมถึง เจ้าของผลประโยชน์ขั้นสูงสุด จะต้องผ่านการทดสอบ ‘ความพอดีและความเหมาะสม’ (Fit and proper Test) ของ SFC 

ในขณะที่ทางก.ล.ต. สหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันอย่างต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมคริปโทฯ และเลือกที่จะควบคุมผ่านการใช้กำลังบังคับให้ปฏิบัติตามในปี 2566 ประเทศอื่น ๆ เช่นฮ่องกงและประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเลือกที่จะปฏิบัติในทิศทางกลับกัน โดยการสร้างกฎระเบียบที่ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ เป็นไปได้ว่าในอนาคตเราจะเห็นพัฒนาการและนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านบล็อกเชนจากประเทศเหล่านี้