'คริปโตมายด์' เปิดมุมมอง 'คริปโท' ครึ่งปีหลัง คาดปัจจัยบวกหนุนตลาดฟื้นตัว
ในปี 2566 ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลกยังคงอยู่ในภาวะที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก และด้วยภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อสินทรัพย์ดิจิทัล
แม้ว่าภาพรวมตลาดยังเห็นภาพความไม่แน่นอน แต่ในด้านเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาอย่างต่อเนื่อง
นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด เปิดมุมมอง ภาพรวมตลาดคริปโทฯ ในงาน Cryptomind Mid-year Investment Forum ว่า ในปีนี้ตลาดคริปโทฯได้รับความนิยมและความสนใจจากนักลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีลักษณะที่น่าสนใจและมีโอกาสในการลงทุนที่มากกว่าสกุลเงินอื่น ๆ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตของตลาดคริปโทฯ อย่างรวดเร็ว โดยผู้คนในประเทศไทยมีการรับรู้ถึงความเป็นมาของเทคโนโลยีบล็อกเชนและการใช้งานคริปโทฯ มากขึ้นและขยายตัวในวงกว้าง ส่งผลให้แนวโน้มของสินทรัพย์เกิดใหม่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
อีกทั้งมีแหล่งให้ศึกษาหาความรู้ และมีองค์กรที่สนับสนุนคริปโทฯ และเทคโนโลยีบล็อกเชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจึงควรให้ความสำคัญกับการศึกษาและการทำความเข้าใจในเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการวิเคราะห์ตลาดและการติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
ด้านนายพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุน บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด กล่าวเสริมว่า ทิศทางการลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง 2566 นั้นมีท่าทีที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพราะท่าทีของอเมริกา ที่แม้ว่าทางSECจะมีการฟ้อง Coinbase และ Binance US
แต่ในแวดวงผู้ประกอบการกลับมีทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งลงท้ายด้วยการที่สถาบันการเงินจำนวนมากโดยเฉพาะ BlackRock ที่ทำการยื่นขอ SPOT Bitcoin ETF นั้นมี AUM มากกว่ามูลค่าตลาดคริปโทถึง 9 เท่า การแบ่งสัดส่วนเงินที่บริหารเพียงน้อยนิดเข้าสู่ตลาดคริปโทฯ ก็เพียงพอให้ตลาดคริปโท นั้นมีเม็ดเงินไหลเวียนเพิ่มขึ้นมหาศาล ยังไม่นับรวมสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ทำการยื่นขอใบอนุมัติ SPOT Bitcoin ETF เช่นกัน และถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการยื่นขอใบอนุญาต ก็ทำให้เกิดทิศทางบวกต่อตลาดมากแล้ว
ในขณะเดียวกัน ฮ่องกงได้ประกาศการกำกับดูแลในการเป็น "Crypto Hub" ตามด้วยยุโรปที่มีการประกาศว่าจะมีการกำกับดูแลในปี 2567 นั้น เป็นการกดดันอเมริกาอยู่มากพอควร อย่างไรก็ตามในแง่ของปัจจัยเชิงลบนั้นสถานการณ์เงินเฟ้อยังต้องติดตามต่อไป เพราะตราบใดที่เงินเฟ้อไม่ลดก็จะยังมีแรงกดดันต่อตลาดอยู่ต่อเนื่อง