3 เรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับ Bitcoin ETF | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

3 เรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับ Bitcoin ETF | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ความจริงแล้วผมไม่ได้เขียนบทความเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีมาสักพักใหญ่แล้วนะครับ เพราะต้องบอกตามตรงว่าเมื่อคุณศึกษาคริปโทเคอร์เรนซีไปเรื่อยๆ มันเปรียบเสมือนคุณเข้าไปอยู่ในหลุมกระต่าย เหมือนที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า Rabbit’s Hole

คือมันมีเรื่องให้ศึกษาลึกขึ้นเรื่อยๆ จนไม่รู้จบ ตั้งแต่เรื่อง DeFi NFT Web3 Layer 2 และอีกมากมาย 

ถ้าผมเอามาเล่าให้ผู้อ่านฟังก็อาจจะเกิดปัญหาได้ เพราะมันอาจจะลึกเกินไป ทำให้ผู้อ่านสับสนได้ครับ แล้วช่วงหลังๆ ผมค่อนข้างสนใจเรื่องที่คนสนใจน้อย เช่น ข่าวเศรษฐกิจ สภาวะแวดล้อมของสังคม และเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ แต่กลายเป็นว่าเรื่อง Bitcoin ETF เป็นสิ่งที่ผมมองว่ามันน่าสนใจ และผู้อ่านน่าจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อยครับ

  • อย่างแรก : Bitcoin ETF ที่ออกมาทั้งหมด 11 กอง ETF ไม่จำเป็นที่จะต้องมีจำนวนบิตคอยน์ในกองเท่ากับจำนวนที่ขายออกไป

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน เพราะเวลากอง ETF ทำงานปกตินั้นอย่างเช่น ETFs หุ้น กองทุน ดัชนี ทองคำ หรือแม้แต่ตราสารหนี้ จำเป็นที่จะต้องมีจำนวนของทรัพย์สินนั้นๆ แต่ในตัวของบิตคอยน์เองกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ในบรรดา Bitcoin ETF ทั้งหมด 11 เจ้าที่ถูกอนุมัติ มีเพียงแค่เจ้าเดียวเท่านั้นที่มีบิตคอยน์เกิน 100,000 บิตคอยน์อยู่ในพอร์ตการลงทุนของตัวเอง นั่นก็คือ Greyscale Bitcoin Trust หรือ GBTC 

แต่ในกองอื่นๆ อย่าง ARK Invesco VanEck กองใหญ่ๆ เหล่านี้ ล้วนมีบิตคอยน์อยู่ในกองไม่ถึงหลัก 10,000 บิตคอยน์ แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายของ Bitcoin ETF ในช่วง 3 วันแรกที่ผ่านมา 10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจำนวนของบิตคอยน์ในกอง ETF เหล่านี้ควรมีบิตคอยน์มากกว่านี้ ดังนั้น ราคาของบิตคอยน์จึงอาจจะไม่ไปไหน เพราะกองเหล่านี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมีบิตคอยน์เท่ากับจำนวน ETF ที่ขายออกไปครับ

  • อย่างที่สอง : Bitcoin ETF เน้นขายสถาบัน และรายใหญ่มากกว่า "รายย่อย" ครับ

ความจริงแล้ว Bitcoin ETF สร้างขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการซื้อขายบิตคอยน์ได้อย่างง่ายยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้ถ้าคนอยากเข้ามาซื้อ และลงทุนในบิตคอยน์ และคริปโทเคอร์เรนซี เขาต้องไปซื้อในตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี อย่าง Bitkub หรือ Binance และคนส่วนใหญ่ก็ยังลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซี เพราะประเภทสินทรัพย์ที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศมีมากกว่าเพียงแค่คริปโทเคอร์เรนซี 

คราวนี้คนส่วนใหญ่มองว่า Bitcoin ETF จะทำให้เข้าถึงทุกๆ คนได้มากยิ่งขึ้น แต่ความจริงแล้วเมื่อผมเข้าไปดูในค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย Bitcoin ETF 

จะสังเกตได้ว่า แต่ละกองเก็บค่าธรรมเนียมค่อนข้างแพงกว่าตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีทั่วไปประมาณร้อยละ 0.24 ถึงร้อยละ 1.50 เลย แต่บางที่ก็ออกโปรโมชันลดค่าธรรมเนียมออกมา ถ้านักลงทุนซื้อ Bitcoin ETF น้อยกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ถึง 5 พันล้านดอลลาร์ เมื่อดูแบบนั้นแล้วจึงสรุปได้ว่า Bitcoin ETF นั้นเน้นขายรายใหญ่มากกว่ารายย่อย

  • อย่างที่สาม : ก.ล.ต.ไทยเพิ่งออกกฎห้ามซื้อขาย Bitcoin ETF

สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 16 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ทาง ก.ล.ต.บ้านเราเพิ่งออกจดหมายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งห้ามการซื้อขาย Bitcoin ETF เนื่องจากว่า ทาง ก.ล.ต.ยังไม่รับรองคริปโทเคอร์เรนซีเป็นหลักทรัพย์ภายใต้การรับรอง รวมไปถึงบริษัทกองทุนที่อยากจะออกกองทุนบิตคอยน์ โดยการไปลงทุน Bitcoin ETF ของตัวเองก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน 

เรื่องนี้ทำให้หลายๆ บริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขายหุ้นในต่างประเทศอย่าง Liberator เสียโอกาสการให้นักลงทุนได้ลงทุนใน Bitcoin ETF 

ในความเห็นส่วนตัวของผม สิ่งนี้ก็ไม่น่าจะกระทบรายย่อยเท่าไร เพราะเดิมทีเราก็สามารถซื้อขายบิตคอยน์กันในตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีปกติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ การที่บิตคอยน์เข้าถึงนักลงทุนหน้าใหม่ๆ นั้นจะทำได้ยากยิ่งขึ้น และจะทำให้โอกาสของสถาบันการเงินเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์อย่างคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเรื่องที่ต้องห้ามเหมือนเคย

สามข้อที่ผมได้กล่าวไปเกี่ยวกับ Bitcoin ETF นั้นไม่ได้มีผลโดยตรงกับราคาที่บิตคอยน์ที่ร่วงลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ราคาร่วงลงจาก 46,000 ดอลลาร์ต่อ 1 บิตคอยน์ เหลือเพียง 42,000 ดอลลาร์เท่านั้น

เหตุผลหลักๆ ที่ราคาลงน่าจะเพราะว่าคนส่วนใหญ่ “Buy on Rumour, Sell on Fact” คือคนคิดว่าพอ Bitcoin ETF ถูกอนุมัติจะทำให้ราคาของบิตคอยน์ขึ้นเยอะ แต่พอถึงเวลาจริงราคาของบิตคอยน์กลับไม่ได้มาตามนัด ทำให้หลายคนผิดหวัง และขายออกจากพอร์ตตัวเองไป 

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จะมีเหตุการณ์ Bitcoin Halving ที่จำนวนบิตคอยน์ต่อ 1 บล็อกการขุดจะลดลงจาก 6.25 บิตคอยน์ จะเหลือเพียง 3.125 บิตคอยน์ จึงมีโอกาสที่จะทำให้ราคาขึ้นได้หลังจากนั้นครับ เพราะจำนวนลดลง ความต้องการก็จะเพิ่มขึ้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์ครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะทำให้บิตคอยน์เติบโตขึ้นในระยะยาวคือ ในอดีตเมื่อประมาณเดือนพ.ย.2547 เป็นเดือนที่ Gold ETF ถูกอนุมัติ ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในทองคำโดยไม่ต้องซื้อทองคำในรูปแบบทองคำแท่งหรือทองคำรูปพรรณไว้ในการลงทุน ซึ่งในช่วงแรกราคาของ Gold ETF ก็ยังไม่ไปไหน

ในเวลานั้นราคาอยู่ที่ประมาณ 400 ดอลลาร์เท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปราคาของ Gold ETF ก็เติบโตขึ้นตามเวลา เพราะคนคุ้นเคยมากขึ้นกับการลงทุนใน ETF และปัจจัยความต้องการของทองคำที่สูงยิ่งขึ้นครับ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์