ก.ล.ต.-แบงก์ชาติสิงคโปร์ ตามติด Bitcoin ETF ชี้เสี่ยงสูง ไม่เหมาะกับรายย่อย
หน่วยงานกํากับดูแลทางการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์และไทย เคลื่อนไหวถึงการติดตามกองทุนบิตคอยน์ หลังจาก Bitcoin ETF ได้รับการอนุมัติและเปิดตลาดเรียบร้อยแล้ว โดยทั้ง 2 แห่งเห็นตรงกันถึง”ความผันผวน“ที่ไม่เหมาะกับนักลงทุน”รายย่อย“
หลังจากที่”กองทุนบิตคอยน์“ ได้รับการอนุมัติจากสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนนี้ ทำให้นักลงทุนได้ลงทุนในบิตคอยน์โดยไม่จำเป็นต้องซื้อสกุลเงินดิจิทัลโดยตรง
MAS เผยตลาดเก็งกำไร-เสี่ยงสูง
ส่วนความเคลื่อนไหวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของกองทุนบิตคอยน์อย่างใกล้ชิด อย่างธนาคารกลางสิงคโปร์หรือ MAS หน่วยงานการเงินของสิงคโปร์กล่าวเมื่อวันพุธว่า การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลนั้นมีความ "ผันผวนสูงและมีการเก็งกําไร" ดังนั้นจึงไม่เหมาะสําหรับนักลงทุนรายย่อย
“Spot Bitcoin ETFs ไม่ได้รับการอนุมัติจาก MAS สําหรับข้อเสนอสำหรับนักลงทุนรายย่อย” หน่วยงานกํากับดูแลกล่าวว่า “บุคคลที่ยังคงเลือกที่จะซื้อขาย Bitcoin ETF ในตลาดต่างประเทศต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก”
ก.ล.ต.ชี้ ไม่เหมาะกับนลท.ไทย
ในขณะเดียวกัน สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ ก.ล.ต .ได้ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ Bitcoin ETF โดยกล่าวในแถลงการณ์ว่า “ไม่มีแผนที่จะอนุญาตผลิตภัณฑ์กองทุนบิตคอยน์ในขณะนี้"
เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า ไม่เห็นความจําเป็นสําหรับผลิตภัณฑ์ในตลาดไทย “การพัฒนา spot bitcoin ETF ในตลาดต่างประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่ง ETF ดังกล่าวอาจไม่ได้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบันของประเทศไทย”
โดย เอนก มองว่า bitcoin ETFs ไม่เหมาะสําหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป แต่เหมาะสําหรับกลุ่มนักลงทุนมืออาชีพ “ไม่มีความกังวลในขณะนี้ นอกเหนือจากความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล”
ทั้งนี้ ก.ล.ต. เตือนบริษัทหลักทรัพย์ไม่ให้เสนอ bitcoin ETF ให้กับนักลงทุนไทย เนื่องจากมีผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพียง 9 แห่งในประเทศเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้นําเสนอขายผลิตภัณฑ์สกุลเงินดิจิทัล
ทำให้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา InnovestX ซูเปอร์แอปด้านการลงทุนของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ถอนการเทรดบิตคอยน์ ETF ทั้ง 11 แห่ง จากแพลตฟอร์มหลังจากประกาศทันทีว่าเปิดเทรดกองทุนหลังจากที่ได้รับการอนุมัติได้ไม่นาน
ทั้งสิงคโปร์และไทย เคยเผชิญวิกฤตการล่มสลายของวงการคริปโทในปี 2564 เมื่อปีที่แล้วสิงคโปร์ได้ดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวิกฤตการณ์ตลาดคริปโม อย่าง Three Arrows หนึ่งในบริษัทที่โดนหางเลขท้ายไปด้วย
สำหรับ ก.ล.ต.ไทย หน่วยงานกํากับดูแลได้ระมัดระวังผลิตภัณฑ์การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ทำการตลาดในกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ตั้งแต่การล่มสลายของสกุลเงินดิจิทัลในปี 2565 ทำให้ Zipmex ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคริปโทในไทยได้รับผลกระทบจนขาดสภาพคล่อง
อ้างอิง Nikkei