ความเสี่ยง Stablecoin Run : ภัยร้ายในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล
สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) คงทราบว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ผลการทดสอบโครงการนำร่อง Retail CBDC ซึ่งเริ่มศึกษาตั้งแต่ปี 2564 และสิ้นสุดลงในปี 2566
ถึงแม้ว่า ธปท.จะยังไม่มีแผนที่จะนำ CBDC มาใช้งานจริงในเร็วๆ นี้ แต่นี่ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในวงการการเงินของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจและน่ากังวลก็คือ ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ CBDC อยู่มากในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยมีการเข้าใจผิดว่า CBDC มีคุณลักษณะคล้ายกับสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Stablecoin ซึ่งมีการค้ำประกันด้วยสกุลเงินต่างๆ เช่น USDT หรือ USDC และมีความแตกต่างกันเพียงแค่ผู้ออกเป็นธนาคารกลางหรือภาคเอกชนเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว CBDC และ Stablecoin มีความแตกต่างกันอย่างมาก
CBDC แท้จริงแล้วยังคงเป็นเงินตราเช่นเดียวกับเงินปกติที่มีการรับรองโดยรัฐบาล แต่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการชำระเงินรายย่อยขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ CBDC ยังสามารถพัฒนาให้มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม เช่น การกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายล่วงหน้า หรือการช่วยจัดการปัญหาอาชญากรรมทางการเงินได้
ในทางตรงกันข้าม Stablecoin เปรียบเสมือนผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทหนึ่งมากกว่าเงินตรา ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันอนาคตไทยศึกษาที่เผยแพร่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดและคิดว่าสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทได้รับการค้ำประกันโดยภาครัฐ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น
ความเข้าใจผิดนี้อันตรายอย่างไร ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล Stablecoin ได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีในขณะที่ราคาค่อนข้างคงที่ หรือ “Stable” นั่นเอง จึงทำให้ Stablecoin มีมูลค่าตลาดและปริมาณการซื้อขายที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ Stablecoin นั้นๆ ไม่ได้มีเสถียรภาพตามที่คาดการณ์ไว้ และผู้ลงทุนไม่เข้าใจถึงความเสี่ยงที่แท้จริง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็อาจส่งผลกระทบในวงกว้างและสร้างความเสียหายอย่างมาก
เหตุใด Stablecoin จึงได้ชื่อนี้ นั่นเพราะมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีมูลค่าคงที่เทียบเท่ากับสินทรัพย์ที่ใช้อ้างอิง โดยอาศัยกลไกในการรักษามูลค่าในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้เงินสด ตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาลในการค้ำประกันมูลค่าของเหรียญอย่าง Fiat-backed Stablecoin
ตัวอย่างเช่น เหรียญ USDT หรือ USDC ที่ผูกมูลค่ากับเงินดอลลาร์ การใช้คริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ มาค้ำประกันในเหรียญที่เรียกว่า Cryptocurrency-backed หรือการใช้กลไกอัลกอริทึมที่สร้างเหรียญอีกชนิดหนึ่งมารองรับความผันผวน (Algorithmic Stablecoin)
ปัญหาสำคัญที่ควรตระหนักคือ เมื่อแท้จริงแล้ว Stablecoin เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่ออกโดยภาคเอกชน ไม่ใช่ CBDC ที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศใดๆ ย่อมทำให้มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียการตรึงมูลค่าได้ หรือที่เรียกว่าเกิด “Stablecoin Run” นั่นเอง การเกิด Stablecoin Run นั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
ไม่ว่าจะเป็น การที่ราคาของสินทรัพย์ที่อยู่ในคลังสำรอง (Reserve) สำหรับการตรึงราคาลดต่ำลงอย่างฉับพลัน การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ออก Stablecoin แต่ละเจ้า หรือกลไกการรักษาเสถียรภาพแบบอัลกอริทึมของ Algorithmic Stablecoin ผลิตเหรียญอีกตัวมากเกินไปทำให้สูญเสียความเชื่อมั่น จนนำไปสู่การเทขายอย่างหนักในที่สุด
ทำไมเราต้องใส่ใจความเสี่ยงนี้ เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Stablecoin Run ไม่ได้มีเพียงนักลงทุนใน Stablecoin ที่จะสูญเสียเงินลงทุน หรือผู้เล่นในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง DeFi และ CEX ที่จะขาดสภาพคล่องในระบบเท่านั้น แต่ยังลุกลามมาถึงภาคการเงินแบบดั้งเดิมด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของ Fiat-backed Stablecoin อย่าง USDT หรือ USDC ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ทดแทนเงินสด เช่น พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีสภาพคล่องและอายุครบกำหนดแตกต่างจากเงินสด หากเกิดการเทขาย Stablecoin ผู้ออกจะต้องนำสินทรัพย์เหล่านี้ออกมาขายเพื่อนำเงินมารับซื้อคืน Stablecoin เป็นการพยุงราคา
การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดแรงขายอย่างหนักในตลาดตราสารหนี้ด้วย นำไปสู่การร่วงของราคาพันธบัตรและสภาพคล่องที่ตึงตัวในตลาดเงินอย่างรวดเร็ว สำหรับกรณี Algorithmic Stablecoin Run ที่โด่งดัง ก็เช่น เหตุการณ์ของ TerraUSD ในปี 2565 ที่ส่งผลให้บริษัทและนักลงทุนจำนวนมากล้มละลายเป็นลูกโซ่
ในอนาคต มีความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีก หากขาดการกำกับดูแลหรือตรวจสอบที่เพียงพอ ไม่ว่าจะโดยภาครัฐหรือภาคเอกชน รวมถึงกลุ่มผู้ลงทุนเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ นักลงทุนรายย่อยจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับลักษณะของสินทรัพย์ประเภทนี้ด้วย เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างรอบคอบและสอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยตนเอง
คอลัมน์ คิดอนาคต
หทัยภัทร วินัยแพทย์
ไท วัฒนา
สถาบันอนาคตไทยศึกษา ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)
Facebook.com/thailandfuturefoundation