ถอดรหัสข้อจำกัดการลงทุน : มองผ่านกรณี Spot Bitcoin ETF

ถอดรหัสข้อจำกัดการลงทุน : มองผ่านกรณี Spot Bitcoin ETF

เมื่อกล่าวถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องบอกว่าตลาดในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เราพบประเด็นน่าสนใจที่ว่า แม้จะมีความสนใจและการยอมรับในระดับสูง แต่พัฒนาการของตลาดไม่ได้ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

ตลาดดูเหมือนจะ "หยุดนิ่ง" ในแง่ของการนำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์มาใช้  

ความนิยมที่เราเห็นส่วนใหญ่ยังคงจำกัดอยู่ที่การซื้อขายเหรียญคริปโตในตลาดแลกเปลี่ยนเท่านั้น ซึ่งตอบโจทย์นักเทรดรายวันหรือนักเก็งกำไรระยะสั้น แต่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนระยะยาว หรือผู้ที่มองหาประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนในรูปแบบอื่นๆ

หากจะเจาะลึกในประเด็นนี้ เราสามารถพิจารณาข้อจำกัดได้จากสองมุมมอง ทั้งด้านผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน โดยในฝั่งผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ประเด็นอย่างการที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนของรายย่อยในกองทุน Spot Bitcoin ETF นั้น

สะท้อนให้เห็นรูปแบบของการกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชี้ให้เห็นช่องว่างในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยที่ขาดช่องทางหรือผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนรายย่อยไทยมีโอกาสลงทุนและเพิ่ม Exposure ต่อสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสม

ในส่วนข้อจำกัดในการระดมทุน พบว่าวิธีการระดมทุนรูปแบบใหม่นี้ในไทยยังไม่ดึงดูดเท่าที่ควร ทั้งจากปัจจัยภายใน เช่น ต้นทุนในการออกเหรียญระดมทุนที่สูง และความไม่ชัดเจนในนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแล ว่าจะมีแนวทางในการกำกับดูแลและส่งเสริมร่วมกันอย่างไร

ส่งผลให้กระบวนการ Tokenisation ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย และไม่เกิดผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน

ในบทความนี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่มุมมองฝั่งผู้ลงทุนก่อน

การกล่าวถึงกองทุน Spot ETF ที่อ้างอิงกับสกุลเงินดิจิทัลนี้ ไม่ใช่เพียงการพูดถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่ง

แต่เป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนถึงการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Blockchain ที่หลากหลายในประเทศไทย และความแตกต่างในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุน โดยเฉพาะระหว่างนักลงทุนรายย่อยทั่วไปกับนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนที่มีมูลค่าสินทรัพย์สูง (High Net Worth)

โดยทั่วไปแล้ว การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นสามารถทำได้ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ การถือครองเหรียญโดยตรง การลงทุนผ่านกองทุน และการลงทุนผ่านตัวกลางที่เปิดโอกาสให้ซื้อขายกองทุนที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลของต่างประเทศ แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อย ตัวเลือกยังจำกัดอยู่เพียงการลงทุนผ่านผู้ให้บริการตลาดซื้อขายเท่านั้น

การห้ามลงทุนใน Spot Bitcoin ETF นั้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะการลงทุนผ่านตลาดแลกเปลี่ยนอาจพบความเสี่ยง Counterparty Risk จากแพลตฟอร์มที่ใช้ในการซื้อขาย หรือปัญหาการขาดการกระจายความเสี่ยง (Diversification) อีกทั้งผู้เล่นบนตลาดแลกเปลี่ยนมักเน้นไปที่การเทรด มากกว่าการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาว

ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเป้าหมายอื่นๆ ย่อมถูกจำกัดช่องทางหรือทางเลือกในการลงทุนโดยอัตโนมัติ และต้องหันไปหาทางเลือกอื่นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติม เช่น การลงทุนในบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนี้ อย่างบริษัทที่ทำเหมืองขุดคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งไม่ได้มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในกอง Spot ETF แต่อย่างใด

ผลที่ตามมาคือ นักลงทุนที่ต้องการเริ่มต้นสัมผัสประสบการณ์การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Exposure) อาจถูกผลักออกไปจากตลาดนี้ ในขณะที่นักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้นแต่อาจมีเงินทุนจำกัด

เมื่อต้องการกระจายการลงทุน นอกเหนือจากการซื้อขายบนตลาดแลกเปลี่ยน กลับพบว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ จึงต้องหันไปหาช่องทางผ่าน Web3 แทน ส่งผลให้ตลาดทุนไทยสูญเสียโอกาสในการเติบโต ทั้งที่เรามีศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดเงินลงทุนผ่านระบบการเงินไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดทุน

เพราะการพึ่งพาเพียงปริมาณการซื้อขายจากการเทรดระยะสั้นที่มีในปัจจุบันนั้น ไม่เพียงพอและไม่สร้างผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น ความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่าง การปกป้องนักลงทุนและการเปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะท้ายที่สุด แม้การกำกับดูแลตามหลักการ “ระวังไว้ก่อน” (Precautionary Principle) จะมีข้อดีอยู่มาก แต่การเปิดโอกาสให้เกิด “การเข้าถึงที่ปลอดภัย” (Safe Exposure) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน 

การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง (Learning by Doing) เป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ และอาจเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในอนาคต.

ถอดรหัสข้อจำกัดการลงทุน : มองผ่านกรณี Spot Bitcoin ETF