โลกคริปโตฯ มีระบบเช็คเส้นทางการเงินผิดปกติ ไล่ล่า‘บอสฟอกเงิน’ ได้
กูรูสินทรัพย์ดิจิทัล เผย ‘ตลาดคริปโตฯ’ถูกใช้แค่ 1% ของการฟอกเงินทั้งโลก สัดส่วนน้อยสุดเทียบกับเครื่องมืออื่น เหตุมีระบบตรวจสอบการฟอกเงินง่ายกว่า ส่วนกระแสข่าวโซเชียล พบเส้นทางการเงินผิดปกติ กลุ่มบอสดิไอคอน โอนคริปโตฯ ยังต้องรอทางตำรวจ ยืนยันข้อเท็จจริงก่อน
ขณะนี้มีประเด็นน่าจับตาบนโลกโซเชียล กรณี บรรดาบอสและโค้ชในเครือข่ายดิไอคอน ที่โยกเงินไปลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี 8,000 กว่าล้านบาท ทำให้ “กระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซี่” ถูกยกขึ้นมาเป็น “แหล่งฟอกเงิน”
ประเด็นดังกล่าว นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ Managing Director Trustender, Founder Thai Bitcast และกรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า กระดานเทรดคริปโตฯ หลีกเลี่ยงไม่ได้ยาก ที่จะถูกมองว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน แต่หากพิจารณาข้อมูลจริงในปัจจุบัน จะพบว่า การฟอกเงินทั้งโลก มีมูลค่าราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 2-5% ของจีดีพีโลก
จากสถิติในช่วงปีที่ตลาดคริปโตฯ เติบโตแรงทั่วโลก จะพบว่า มีมูลค่าการฟอกเงินในตลาดคริปโตฯ ราว 2 พันล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็นสัดส่วน 1% ของมูลค่าการฟอกเงินทั่วโลกเท่านั้น
"ตลาดคริปโตฯ ถือว่า มีสัดส่วนน้อยที่สุดของเครื่องมือที่ถูกใช้ในการฟอกเงินทั้งโลก แต่ไม่ได้หมายความมูลค่าในส่วนนี้จะไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตได้แต่อย่างใด"
ขณะที่เครื่องมือในการฟอกเงินทั้งโลกมีหลากหลาย เช่น ในอดีตอย่าง มาเฟียในสหรัฐและอิตาลี ที่ได้เงินมาอย่างผิดกฎหมาย ก็นำเงินไม่ดี เข้าไปหมุนในระบบธุรกิจปกติ เช่น นำมาเปิดร้านขายพิซซ่า ซึ่งเงินที่ไม่ดีก็ถูกนำเข้ามาในระบบปกติ
และหนีไม่พ้นที่เครื่องมือทางด้านการเงินจะถูกเอาเข้าเป็นเครื่องมือในการฟอกเงินเช่นกัน อย่าง ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ เพรช พลอย ทอง รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างเหรียญคริปโตฯ ด้วยเช่นกัน
แต่ต้องยอมรับว่า การฟอกเงินในตลาดคริปโตฯ จะถูกตรวจสอบพบง่ายกว่าช่องทางอื่นๆ เพราะว่า ปกติแล้วกระเป๋าเงินที่เก็บเหรียญคริปโต ฯ จะมี 2 รูปแบบ คือ ระบบของกระดานเทรดคริปโตฯ จะต้องทำ KYC ที่ต้องมีการยืนยันตัวตน และจะมี Wallet Address (ที่อยู่กระเป๋าสตางค์) สามารถตรวจสอบหาเจ้าของได้ง่าย
แต่หากเป็นกระเป๋าเงินที่มีฮาร์ดแวร์วอเลตหรือโหลดซอฟต์แวร์มาแล้ว เปิดกระเป๋าเงินเก็บคริปโตฯ เอง จะไม่มี KYC ยืนยันตัวตน เบื้องต้นก็จะยังไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ แต่จะมีวิธีการตรวจสอบได้ คือ หากสามารถเข้าถึง ตัวบุคคล (เจ้าของ) ยึดทรัพย์สิน อุปกรณ์ Hardware Walle ที่เป็นอุปกรณ์เก็บสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ถือ พร้อมรักษา Private และ Public Keys ก็จะรู้ได้ว่า กระเป๋าเงินเก็บคริปโตฯ ภายใต้ Hardware Wallet มีเลขรหัสกระเป๋าสามารถไล่ตามดูว่า กระเป๋าเงินเก็บคริปโตฯนี้ถูก KYC ที่ไหนบ้าง
นอกจากนี้ โดยปกติหากเป็นกระเป๋าของกระดานเทรดคริปโตฯ ก็จะมีระบบกลางที่เก็บข้อมูลสามารถตรวจสอบได้ว่า กระเป๋าเงินเก็บคริปโตฯ เป็นของระบบกระดานเทรดคริปโตฯ ไทยหรือต่างประเทศ
นายศุภกฤษฎ์ กล่าวว่า กระแสข่าวดังกล่าวบนโซเชียลนั้น คงต้องรอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบ พิสูจน์หลักฐาน และชี้แจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงชัดเจนก่อนว่า จริงๆ แล้วใช่กระเป๋าเงินเก็บคริปโตฯ ขอบอสคนใดคนหนึ่งใน กลุ่มดิ ไอคอน จริงหรือไม่ และของบอสคนไหน รวมถึงเงินที่ได้มาถูกต้องหรือไม่
“เคสนี้คงต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ถ้าโอนจริงแล้ว โอนไปกระดานเทรดคริปโตฯ ต่างประเทศ เช่น ไบแนนซ์โกลเบิลจริง สามารถตรวจสอบได้ว่า โอนไป account ใคร ส่วนเป็นการฟอกเงินหรือไม่ ยังต้องรอข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นนั้น เพราะหากเงินนี้ได้มาถูกต้อง และโอนเพื่อทำการเทรด หรืออื่นๆ ก็น่าจะทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่าเงินที่ได้มาถูกต้องหรือไม่ หากเงินที่ได้มากไม่ถูกต้อง มีเจตนาพยายามยักย้ายถ่ายเท ไปในสินทรัพย์รูปแบบอื่น ถือว่ามีความผิดฟอกเงิน”
ขณะนี้ น่าจะรู้กันแต่เพียงแต่ว่า มีการโอนเงินมาในระบบเทรดคริปโตฯ และเป็นกิจกรรมที่น่าสงสัยเท่านั้น ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีข้อเท็จจริงชี้ชัดก่อน ซึ่งหากต้องการผู้เชี่ยวชาญในวงการคริปโตฯ มาเป็นที่ปรึกษาหาวิธีการไล่ตรวจสอบ หรือให้ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นการยืนยันการตรวจสอบ ทางสมาคมฯ ยินดีที่จะเข้าไปให้ความร่วมมือ
“ขณะนี้ทางสมาคมฯ ยังไม่ได้มีการติดต่อเข้ามา โดยส่วนตัวมองว่า เคสนี้ อาจไม่ได้ยากมากที่จะติดตามตรวจสอบ ไม่ได้สลับซับซ้อน เพราะในความเป็นจริงแล้วการฟอกเงินในโลกคริปโตฯ ไม่ใช่ตรวจสอบไม่ได้เลย เพราะบนโลกคริปโตฯ เรื่องไม่เงียบ จะมีคนติดตามอยู่ตลอดเวลา หากมีการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินเก็บคริปโตฯ ที่ต้องสงสัย เข้ายึดทรัพย์ได้ทันที แต่เจ้าหน้าที่หรือคนที่เป็นผู้ตรวจสอบ ต้องมีความเชี่ยวชาญและมีทักษะที่จะเข้าใจว่า จะมีวิธีการติดตามเส้นทางอย่างไร ยึดทรัพย์สินอย่างไร”