เฟดจ่อเร่งขึ้นดบ. กดดัน เงินบาท ผันผวนสูงสุดที่9% ใกล้เคียงช่วงวิกฤติโควิด
กรุงไทย เผยค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้นอย่างชัดเจนในจังหวะที่เฟดมีการขึ้นดอกเบี้ย ล่าสุด พบเงินบาทผันผวนสุงสุดที่9% ใกล้เคียงช่วงวิกฤติโควิด แนะผู้ประกอบการและนักลงทุนทั่วไปไม่ควรเก็งกำไรค่าเงิน พร้อมใช้Options ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
แม้ว่าในปีนี้ "ค่าเงินบาท" จะมีทิศทางอ่อนค่าลงอย่างชัดเจน จากแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ดูแล้วยังอาจไม่จบลงได้ง่ายนักในระยะสั้น โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดยังคงกังวลกับแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
อย่างไรก็ดี สิ่งที่มาพร้อมกับเทรนด์การอ่อนค่าของเงินบาทนั้น คือ ความผันผวนของเงินบาทที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่สูงถึง 0.2 หรือ 0.3 บาทในระหว่างวันได้
"พูน พานิชพิบูลย์" นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้นอย่างชัดเจนในจังหวะที่เฟดมีการขึ้นดอกเบี้ย และความผันผวนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในจังหวะที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ อาทิ
ในช่วงการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปี 2548เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทปรับตัวสูงขึ้นจากระดับโดยเฉลี่ย 5.0% ต่อปี ในช่วงก่อนการขึ้นดอกเบี้ย มาสู่ระดับโดยเฉลี่ยราว 7.3% ต่อปี ตลอดช่วงการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับรอบการขึ้นเร่งขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดของเฟดที่ความผันผวนของเงินบาทปรับตัวขึ้นจากระดับ 6.2% สู่ระดับถึง 8.0%
ล่าสุดความผันผวนของเงินบาทสูงถึง 9.0% มากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 6.4% พอสมควร หรือกลับมาใกล้เคียงช่วงวิกฤติโควิด
ดังนั้น ถ้าหากเฟดยังมีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราอาจจะยังคงเห็นการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงต่อ
ดังนั้น ผู้ประกอบการรวมถึงบุคคลทั่วไปที่มีรายได้หรือรายจ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศ อาจต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และพยายามหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรทิศทางของค่าเงิน ในสภาวะที่ค่าเงินยังมีแนวโน้มผันผวนสูง
อนึ่ง ในภาวะตลาดการเงินผันผวนสูงจากหลากปัจจัยที่มีไม่แน่นอน เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการการใช้เครื่องมือ Options ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีนัยสำคัญ
เงินบาทกลับมาอ่อนค่าสุดในรอบ1เดือนครั้งใหม่ที่36.85 บาทต่อดอลลาร์
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า วานนี้ (2 ก.ย.65) เงินบาทกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครั้งใหม่ที่ 36.85 บาทต่อดอลลาร์ ในระหว่างวัน โดยกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนรอติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในคืนนี้
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า(5-9ก.ย.65) คาดไว้ที่ 36.20-37.00 บาทต่อดอลลาร์
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างชาติ อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของไทย และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนส.ค. ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนก.ค. รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนส.ค. อาทิ ข้อมูลการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต