สถาบันป๋วยฯ ย้ำเป้า กนง.คุมเงินเฟ้อคาดการณ์ ป้องเกิด wage price spiral

สถาบันป๋วยฯ ย้ำเป้า กนง.คุมเงินเฟ้อคาดการณ์  ป้องเกิด wage price spiral

สถาบันวิจัยป๋วยฯ เปิดวิจัยเจาะลึกเงินเฟ้อไทย พบเงินเฟ้อไทยถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยเฉพาะเป็นหลัก 85% มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า จากปัญหาเฉพาะ ดังนั้นการทำนโยบายการเงินต้องพยายามคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ให้หลุดกรอบ เพื่อไม่ให้เกิด wage price spiral

สถาบันป๋วยฯ ย้ำเป้า กนง.คุมเงินเฟ้อคาดการณ์  ป้องเกิด wage price spiral        สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เปิด PIER Research Brief “เจาะลึกเงินเฟ้อไทยผ่านข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อย โดยมีผู้ทำวิจัย ดร.พิม มโนพิโมกษ์  ,นายชัยธัช จิโรภาส ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ดร.นุวัต หนูขวัญ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ 
         โดย ดร.นุวัต หนูขวัญ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า หากดูตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวม โดยในเดือนส.ค. เงินเฟ้ออยู่ที่ 7.8%  แต่กลับพบว่า สินค้าบางรายการปรับเพิ่มขึ้นกว่านี้มาก หรือต่ำกว่านี้มาก เหล่านี้สะท้อนว่าปัจจัยกระทบต่อเงินเฟ้อมีความหลากหลาย 

      โดยแบ่งปัจจัยที่ขับเคลื่อนเงินเฟ้อมาจาก 2 กลุ่มหลักด้วยกัน ปัจจัยร่วม หรือปัจจัยมหภาค เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ และปัจจัยเฉพาะ เช่น มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าบางรายการ ที่มีผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และบริการนั้นๆ 
     ซึ่งพบว่า ปัจจัยร่วม มีผลต่อความผันผวนของเงินเฟ้อเพียง 15% เท่านั้น ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อหลักๆ ของไทยในปัจจุบันมาจาก ปัจจัยเฉพาะ 85% เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาหมู สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบต่อราคาน้ำมัน จึงเป็นเหตุให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น 

      ดังนั้น เงินเฟ้อไทยไม่ค่อยอ่อนไหวไปกับปัจจัยมหาภาค เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ ที่ แต่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเฉพาะของแต่ละสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดพลังงาน 
       อย่างไรก็ตาม ผลของปัจจัยเฉพาะไม่ได้มีการส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ในวงกว้างเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งสะท้อนถึง ความสามารถของธนาคารกลางในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน ทำให้เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะสามารถคลี่คลายไปได้เอง และไม่ส่งผลยืดเยื้อ

    “สิ่งที่เราพบคือ ปัจจัยร่วมหรือมหาภาคมีบทบาทน้อยลงในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อไทย  แต่ปัจจัยเฉพาะมีบทบาท กระทบต่อเงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจัย ที่มาจากราคาน้ำมัน ราคาเนื้อสัตว์ต่างเพิ่มขึ้น มีการส่งผ่านไปสู่หมวดอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งพบว่า การส่งผ่านจำกัด แม้เกิดปัจจัยเฉพาะเกิดขึ้น แต่กระทบต่อสินค้าบางรายการเท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลกระทบกระจายตัวเป็นวงกว้าง และเงินเฟ้อไทยส่วนใหญ่ มองว่าจะคลี่คลายได้ และไม่ต่อเนื่อง”
        ดังนั้น นโยบายการเงิน ต้องมองทะลุ มองผ่าน ความผันผวนระยะสั้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว เงินเฟ้อจะสามารถคลี่คลายไปได้เอง ซึ่ง มองว่า มาตรการของภาค มีส่วนเข้ามาจัดการหรือแก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ดีกว่า 
       แต่ไม่ได้หมายว่า ธปท. เพราะหากปัจจัยเฉพาะรุนแรง หรือมีผลเป็นวงกว้าง ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ ต่อราคาสินค้าบริการในภาพรวม และหากกระทบต่อเงินเฟ้อคาดการณ์ของประชาชน อาจทำให้ปัจจัยเฉพาะ กระจายตัวเป็นวงกว้างไปได้ ผ่านการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน ซึ่งนำมาสู่การปรับขึ้นค่าจ้าง การปรับขึ้นราคาสินค้าตามมา
      ดังนั้น ต้องมีการติดตามเงินเฟ้อ อาจต้องลงไปดูเชิงลึกมากขึ้น และต้องติดตามเงินเฟ้อมหาภาค ที่มาจากกระทรวงพาณิชย์ ว่ามาจากอะไร และพยายามต้องพยายามลงลึกไปดูที่มาของเงินเฟ้อ ที่อาจกระจายตัวไปสู่สินค้าอื่นๆ หรือระบบเศรษฐกิจอย่างไรได้บ้าง 
      “จากสถิติเงินเฟ้อจะคลี่คลายด้วยตัวเอง ใช้เวลายาวนานแค่ไหน คงดูแล้วแต่สถานการณ์ เช่น ช็อกตัวนั้นคืออะไรเช่นการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ ที่ตอนแรกๆ จะเพิ่มขึ้น แต่ะสุดท้ายจะคลี่คลายระยะเวลาอันรวดเร็ว” 
      ทั้งนี้ กรณี ปัจจัยเฉพาะ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อคาดการณ์ และหากตรึงอยู่ในกรอบของ กนง.ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่หากมีสัญญาณเพิ่มขึ้น อาจต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น หรือออก Forward Guidance     หรือการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้การดำเนินนโยบายการเงิน 
     อย่างไรก็ตาม โจทย์ท้าทายของธนาคารกลาง คือ ต้องแยกให้ได้ว่า เงินเฟ้อมาจากปัจจัยอะไร ซึ่งหากดูการวิเคราะห์จาก กนง. พบว่า เงินเฟ้อมาจากปัจจัยเฉพาะเป็นหลัก และไม่กระจายตัวมากนัก 
      “การมองผ่านไม่ได้หมายความว่าเราไม่ทำอะไร แต่พยายามทำให้เงินเฟ้อยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ และการที่เราขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเริ่มเห็นดีมานด์ เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา มีการใช้จ่ายมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะมีความร้อนแรง ดังนั้นจึงต้องขึ้นดอกเบี้ย เพราะนโยบายการเงินใช้เวลา กว่าจะมีผล และเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อดีมานด์กลับมาเงินเฟ้อจะไม่ไปไกลว่านี้ ไม่ต้องรอดีมานด์สูงข้างหน้า” 
    ทั้งนี้ มองว่า ไทยจะเจอกับ wage price spiral หรือไม่ หัวใจหลักคือ มาจากเงินเฟ้อคาดการณ์ของภาคธุรกิจ ประชาชน เมื่อรู้สึกว่าเงินเฟ้อเริ่มฝังลึกในระบบเศรษฐกิจ เริ่มมีการต่อรองค่าจ้าง การปรับขึ้นราคาสินค้า ดังนั้นหัวใจสำคัญคือ ต้องพยายามดูแลไม่ให้เกิด Wage price spiral คือ ดูแลเงินเฟ้อคาดการณ์ให้อยู่ในกรอบ 
      อย่างไรก็ตาม การติดตามเงินเฟ้อของ ธปท. มีหลายเครื่องชี้ที่ใช้ติดตามเงินเฟ้อ เช่น เครื่องชี้จากครัวเรือน ของธุรกิจ และเงินเฟ้อคาดการณ์ ที่สามารถสกัดจากตลาดการเงิน หรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และสกัดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์เงินเฟ้อระยะสั้น และระยะปานกลาง 5-10 ปีข้างหน้า 
ซึ่งหากดูเงินเฟ้อวันนี้ ยังมองว่า เงินเฟ้อคาดการณ์ ระยะยาว ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2% แม้เงินเฟ้อระยะสั้นผันผวน 
     ขณะที่ นายชัยธัช กล่าวว่า ความสามารถของธนาคารกลาง (ธปท.) ที่สามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชนได้เป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนทำให้ปัจจัยเฉพาะมีบทบาทสูงขึ้นในการอธิบายเงินเฟ้อไทย

      ผ่านสองช่องทางสำคัญโดยทำให้ราคาสินค้า และบริการรายย่อยอ่อนไหวไปกับวัฏจักรเศรษฐกิจน้อยลง เนื่องจากผู้ประกอบการเชื่อว่าธนาคารกลางจะสามารถดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้ โดยผลการวิจัยพบว่า ราคาสินค้า และบริการในตะกร้าเงินเฟ้อไทยเกินครึ่งไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับอุปสงค์ส่วนเกินในเศรษฐกิจ 
       ซึ่งเป็นปัจจัยมหาภาคที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของราคาในหมวดย่อยที่เป็นผลจากปัจจัยเฉพาะ ไม่ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการอื่นๆ เป็นวงกว้างอีกด้วย  

       ทั้งนี้ ปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นในหมวดสินค้าหนึ่งๆ สามารถอธิบายความผันผวนของราคาในหมวดอื่นๆ ได้โดยเฉลี่ยเพียงแค่ 3% เท่านั้น จึงทำให้เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และไม่ยืดเยื้อ    
      ในบริบทของไทยที่ปัจจัยเฉพาะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อ การดำเนินนโยบายการเงินจึงย่อมมีความท้าทาย เนื่องจากปัจจัยเฉพาะเหล่านี้มักมีความผันผวนสูง และเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่นโยบายการเงินไม่สามารถควบคุมได้ 
       ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายควรมองผ่าน (look through) ความผันผวนระยะสั้นเหล่านี้ และให้ความสำคัญกับการปรับตัวของเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะปานกลางเป็นสำคัญ 
        อย่างไรก็ดี หากปัจจัยเฉพาะมีความรุนแรง และยืดเยื้อขึ้น ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องเข้าดูแลเพื่อยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน 
        นอกจากนี้ ผลการวิจัยนี้ยังมีนัยต่อการติดตาม และประเมินความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน

      โดยมีความจำเป็นมากขึ้น ที่ต้องอาศัยข้อมูลราคาในเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ที่มาของเงินเฟ้อ และประเมินการส่งผ่านผลกระทบของปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นนั้นด้วย

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์