ท็อป 5 คู่หู "กองทุน SSF - RMF" ผลตอบแทนสูงสุด ฝ่ามรสุมตลาดผันผวน

ท็อป 5  คู่หู "กองทุน SSF - RMF" ผลตอบแทนสูงสุด ฝ่ามรสุมตลาดผันผวน

ใกล้โค้งท้ายปี ต้องรีบพิจารณา การลงทุนประหยัดภาษี เปิดท็อป 5 'กองทุน SSF - RMF ยีลด์โดดเด่นตั้งแต่ต้นปี นำโดย กองทุน TISCOWB-SSF ยีลด์ 9.49%  และกองทุน IN-RMF  ยีลด์ 6.67% โตฝ่ามรสุมตลาดผันผวน กองทุน SFF มีเงินไหลเข้าสูงสุด ขณะที่ กองทุน LTF ยังมีเงินไหลออก 2.4 หมื่นล้าน

เผลอแว๊บเดียวใกล้เข้าช่วงโค้งสุดท้ายสิ้นปีกันอีกแล้ว ใครที่ยังไม่ได้ ช้อป "กองทุนประหยัดภาษี" กระจายเงินลงทุนสะสมเข้าพอร์ตตั้งแต่ต้นปี ในจังหวะที่ตลาดปรับฐานลง หรือใครที่ยังไม่เคยมีติดพอร์ตลงทุน  ตอนนี้หากจะพิจารณากันก็ยังไม่สาย  

ลองมาพิจารณาด้าน "ผลตอบแทน" สำหรับคู่หูกองทุนประหยัดภาษี กองทุนเพื่อการออม (SSF)  กับ กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่โดดเด่นฝ่ามรสุมตลาดผันผวนมาได้นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ จากข้อมูลบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ณ 9 ก.ย. 2565 พบว่า

กองทุน SSF และ กองทุน RMF ที่มีผลตอบแทนสูงสุด 5 อันดับแรก ดังนี้ 

กองทุน SSF ผลตอบแทนสูงสุด 

1. กองทุนเปิด ทิสโก้ หุ้นไทย Well-being ชนิดเพื่อการออม (TISCOWB-SSF) ผลตอบแทน 9.49% 

2. กองทุนเปิดเคเคพี แอ็กทิฟ อิควิตี้ ชนิดเพื่อการออม(KKP ACT EQ-SSF)  ผลตอบแทน 3.44%

3. กองทุนเปิดเคเคพี ดิวิเดนด์ อิควิตี้ ชนิดเพื่อการออม (KKP DIVIDEND-SSF) ผลตอบแทน 2.99%

4. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นไทยเพื่อการออม (BEQSSF) ผลตอบแทน 2.86%

5. กองทุนเปิด แอล เอช สแทรทิจี อิควิตี้ ชนิดเพื่อการออมและสะสมมูลค่า (LHSTRATEGY-ASSF)  ผลตอบแทน 2.7%

(จากทิศทางตลาดหุ้นไทยที่ดีกว่าสหรัฐ จีน และทั่วโลก ส่งผลให้กองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้นไทยมีผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยทั้ง 5 อันดับผลตอบแทนกองทุน SSF สะสม 8 เดือนเป็นกองทุนหุ้นไทย) 

กองทุน RMF ผลตอบแทนสูงสุด 

1.กองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ (IN-RMF) ผลตอบแทน 6.67%

2.กองทุนเปิดทาลิส MID-SMALL CAP หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (TLMSEQRMF) ผลตอบแทน 6.63%

3. กองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย 4 เพื่อการเลี้ยงชีพ (BBASICRMF)  ผลตอบแทน 4.43%

4. กองทุนเปิดกรุงไทย เอไอ เบรน เพื่อการเลี้ยงชีพ(KT-BRAIN RMF) ผลตอบแทน 3.77%

5. กองทุนเปิดทาลิส DIVIDEND STOCK เพื่อการเลี้ยงชีพ (TLDIVRMF) ผลตอบแทน 3.43%

ท็อป 5  คู่หู \"กองทุน SSF - RMF\" ผลตอบแทนสูงสุด ฝ่ามรสุมตลาดผันผวน

 

สำหรับภาพรวม " 3 กองทุนประหยัดภาษี" ทั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)  กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  

ในช่วง 8 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.2565)  บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) รายงานว่า 

- กองทุน LTF มีเงินไหลออกสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท มากกว่าช่วง 8 เดือนของปีที่แล้วที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากเงินลงทุนปี 2559 ที่ครบกำหนดขายคืนตามเงื่อนไขเพิ่มเติมในปีนี้

อย่างไรก็ดี  เงินไหลออกในช่วงที่เหลือของปีอาจจะไม่ส่งผลต่อตลาดหุ้นเท่าใดนัก และตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเงินไหลออกกองทุน LTF มีแนวโน้มที่ชะลอลงจากต้นปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยด้วย

- กองทุน SSF  มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 8 เดือน 3.5 พันล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3.3 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.5% จากสิงหาคมปีที่แล้ว

- กองทุน RMF มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.8 พันล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 4.2 พันล้านบาท ทั้งนี้เกิดจากมีเงินไหลออกสุทธิเมื่อต้นปีที่สูงกว่าปีที่แล้ว

"ชญานี จึงมานนท์"  นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) มองว่า   ในช่วงปลายปีนี้นักลงทุนน่าจะยังให้ความสำคัญกับการลงทุนประหยัดภาษีเช่นในอดีต โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เป็นช่วงที่มีเงินลงทุนสูงสุดของทุกปี และเทรนด์การปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ถือเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้น การปรับตัวลงของตลาดในบางช่วงอาจสร้างแรงจูงใจต่อการลงทุนประหยัดภาษีได้

การลงทุนทั้ง SSF และ RMF เป็นการลงทุนระยะยาว และมีประเภทสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนหลากหลาย แนะนำว่า นักลงทุนควรเน้นการจัดสัดส่วนการลงทุนเสี่ยงสูง-ต่ำตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ควบคู่ไปกับกรอบระยะเวลาการลงทุนที่วางไว้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนของแต่ละบุคคล