นักลงทุนเอเชียแปซิฟิกเลิกรอจังหวะเน้นกระจายพอร์ตรับตลาดผันผวน
ผลสำรวจใหม่จาก "ลอมบาร์ด โอเดียร์" ไพรเวทแบงก์สวิตเซอร์แลนด์ชี้ นักลงทุนอัลตราริชในเอเชียแปซิฟิกเปลี่ยนแนวการลงทุนจาก “รอจังหวะ” ที่เคยทำช่วงโควิด-19 ระบาดมาเป็นการกระจายพอร์ตด้วยความกังวลเรื่องตลาดผันผวน
รายงาน “การศึกษาลูกค้ากลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง”(HNWIs) ประจำปี 2565 สำรวจนักลงทุนมั่งคั่ง หรือผู้ที่ลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์ในสินทรัพย์แถบเอเชียแปซิฟิก จำนวน 450 คน ถึงความกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับ การจัดการความผันผวนของตลาดในปัจจุบัน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และวิธีกระจายพอร์ตลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้
ลอมบาร์ด โอเดียร์ กล่าวว่า ความเร่งด่วนของกลยุทธ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่การสำรวจในปี 2563
“ช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักสุดในปี 2563 HNWIs ส่วนใหญ่ของเอเชียแปซิฟิกที่สำรวจไม่ได้เปลี่ยนแนวทางพอร์ตการลงทุนโดยใช้วิธีรอจังหวะ ที่เป็นเช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะขาดความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และไม่แน่ใจว่าโควิดจะพัฒนาไปอย่างไร” ฌ็อง ฟรังซัวส์ อบูลเคอร์ หัวหน้าแผน HNWIs เอเชียกล่าว
ตอนนี้ราว 68% ของนักลงทุนในสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน และออสเตรเลียปรับหรือเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้ฝ่าฟันสภาพตลาดปัจจุบันได้ดีขึ้น
เงินเฟ้อสูง
ผู้ให้ข้อมูลราว 77% กล่าวว่า ปัญหาใหญ่สุดคือเงินเฟ้อเพิ่มสูงและแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนสิงคโปร์กังวลเรื่องนี้มากที่สุด
“แม้แต่ญี่ปุ่นที่เงินเฟ้อเกือบเข้าใกล้ศูนย์มานานกว่าสามทศวรรษ ตอนนี้กำลังเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อราว 69% ของ HNWIs ในญี่ปุ่นกังวลเรื่องนี้ แม้ว่าการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่นเพื่อกระชับนโยบายการเงินยังไม่ชัดเจน แต่ HNWIs หนึ่งในสามในญี่ปุ่นเชื่อว่าจะเกิดขึ้นภายใน 12 เดือน”
ขึ้นอัตราดอกเบี้ย
โดยทั่วไปนักลงทุนในเอเชียแปซิฟิกกังวลเรื่องขึ้นดอกเบี้ยน้อยลง สาเหตุหลักเพราะคิดว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง ไม่ขึ้นถึงระดับที่อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเสียหาย
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนออสเตรเลียและอินโดนีเซียไม่ค่อยมั่นใจ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้ ราว 70% กล่าวว่า ดอกเบี้ยเพิ่มสูงเป็น “ความกังวลใหญ่”
ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
นักลงทุนในฟิลิปปินส์กังวลมากที่สุดเรื่องการไร้เสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่นักลงทุนในฮ่องกงและสิงคโปร์อ้างถึงความตึงเครียดด้านนี้เช่นเดียวกัน บอกว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสูงสุดใน 12 เดือนข้างหน้า
นักลงทุนเหล่านี้กังวลว่าความเสี่ยงและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะกระทบผลตอบแทนในการลงทุน อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และกังวลจะเสียโอกาสในช่วงที่ตลาดผันผวน
หลายคนในฮ่องกงและญี่ปุ่นตั้งคำถามถึงประสิทธิผลของกลยุทธ์สร้างความหลากหลายของพอร์ตในปัจจุบัน เนื่องจากราคาหุ้นร่วงลงมาก อัตราส่วนผลตอบแทนหุ้นกู้กว้างขึ้น และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูง ล้วนส่งผลลบต่อพอร์ตการลงทุนของพวกเขา
ในความพยายามลดความเสี่ยงเหล่านี้ นักลงทุนอัลตราริชในเอเชียแปซิฟิกหันมาระมัดระวังมากขึ้น และหันเหจากสินทรัพย์แบบเดิมๆ จำพวกหุ้นและพันธบัตรไปลงทุนในบริษัทของตนเอง
หลายคนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินสดและทองคำ บางคนยังลงทุนในสินทรัพย์เอกชนด้วย เช่น หุ้นนอกตลาด หนี้ภาคเอกชน อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นักลงทุนในสิงคโปร์และออสเตรเลียเป็นผู้นำในด้านนี้
ไม่เพียงเท่านั้น นักลงทุนหลายคนยังออกจากตลาดในประเทศช่วงสองปีที่ผ่านมา เพื่อจัดการกับความไม่แน่นอนยุคหลังโควิดด้วยการกระจายพอร์ตการลงทุนไปทั่วโลก ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นและอินโดนีเซียนิยมทำแบบนี้
“แม้ผลกระทบของโควิด-19 จะเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ผลตอบแทนจากหุ้นในประเทศต่างๆ แตกต่างกันมาก สินทรัพย์บางตัวได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นในบางตลาด นักลงทุนเหล่านี้เชี่ยวชาญ และเข้าใจความสำคัญของแนวทางระยะยาวในการมองหาสินทรัพย์นอกจากตลาดในประเทศ พร้อมๆ กับลดการพึ่งพาปัจจัยในประเทศ” นายอบูลเคอร์จากลอมบาร์ด โอเดียร์ให้ความเห็น