นอกจากดอกเบี้ยแล้ว เหลืออะไรต้องจับตาดูอีกบ้างสำหรับการลงทุนที่เหลือในปีนี้
นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนหัวหมุนที่สุดในปีนี้ น่าจะเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ กับท่าทีต่อทิศทางของดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก
หลังจากเงินเฟ้อดูท่าจะเป็นปัญหาใหญ่ และจากมุมมองที่ว่าเป็นเพียงเรื่องของปัญหาอุปทานชั่วคราว เป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกที่ต้องจัดการควบคุมให้อยู่ แม้จะต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจก็ตาม ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ
หากพิจารณาจากแนวโน้มเงินเฟ้อและปัญหาที่เงินเฟ้อที่ควบคุมไม่อยู่อาจจะนำมาดังเช่นเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งนับได้ว่าปีนี้ดอกเบี้ยและนโยบายการเงินมีบทบาทสำคัญต่อแนวโน้มการลงทุนมากๆ และอาจจะใกล้เคียงกับช่วงของวิกฤติซับไพรม์(Subprime Crisis) ในช่วงปี 2008-2009 เลยทีเดียว
ปัจจัยสำคัญอันดับแรก ได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3 ที่น่าจะทยอยออกมาในช่วง เดือน ต.ค. - พ.ย. โดยสำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ที่ได้ประกาศออกไปเกือบหมดแล้วนั้น ในตลาดหลักๆ ยังคงออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ นำโดยในสหรัฐฯ (S&P500 โดยรวมประกาศผลประกอบการสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ 4.05%) และยุโรป (Eurostoxx600 10.43%)
ทำให้ในนักวิเคราะห์ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหลักทรัพย์โดยมีการปรับประมาณการอัตรากำไรต่อหุ้นขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งดูเหมือนว่าจะสวนทางกับทิศทางของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวลง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่นักวิเคราะห์เคยมองไว้ว่าน่าจะขยายตัวได้ 3.9% ในปีนี้ ปัจจุบันเหลือเพียง 1.6% เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศยุโรปที่เคยคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 4.2% เหลือเพียง 2.8% (ข้อมูลจาก Bloomberg)
โดยนับตั้งแต่ต้นปีหากพิจารณาจากแนวโน้มกำไรต่อหุ้นที่ยังไม่ลดลง แต่ตลาดหุ้นกลับปรับตัวลดลงราว 20% ซึ่งเกิดจากการระดับมูลค่าของการซื้อขายที่ต่างกันออกไปตามความมั่นใจของนักลงทุนในตลาดเท่านั้น ซึ่งหากผลประกอบการเริ่มชะลอตัวลงเพิ่มเติมก็อาจทำให้ตลาดหุ้นยังคงมีโอกาสปรับตัวลดลงได้อีก (Downside)
สวนทางกับ Sentiment ของตลาดที่ดูเหมือนว่าจะดีขึ้นในช่วงหลัง ทำให้ประเด็นนี้ยังคงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแนวโน้มดอกเบี้ยและท่าที่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่อย่างใด และส่วนใหญ่นักวิเคราะห์ที่มองว่าตลาดหุ้นยังสามารถปรับฐานได้อีกก็เกิดจากสาเหตุนี้เป็นหลัก
ปัจจัยที่สอง ปัญหาเงินเฟ้อ และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป ก็น่าจะเป็นอีกประเด็นสำคัญที่อาจมีส่วนกดดันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยกลุ่มประเทศยุโรปที่มีน้ำหนักราว 24% ของ GDP ทั้งโลก มีโอกาสที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งนับได้ว่าเป็นความท้าทายอย่างมากของธนาคารกลางยุโรปในการแก้ไขปัญหาเนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมยังคงมีความเปราะบาง นอกจากนี้ปัญหาอีกอย่างคือแรงกดดันของเงินเฟ้อที่ไม่เท่าเทียมกันในกลุ่มประเทศยุโรป เนื่องจากการฟื้นตัวจาก COVID-19 และระดับการพึ่งพิงพลังงานแตกต่างกัน
เนื่องจากเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ในยุโรปยังมีความแตกต่างกันมาก เช่น ล่าสุดเดือน ส.ค. เงินเฟ้อในฝรั่งเศสอยู่ที่ 6.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) เทียบกับประเทศเล็กๆ อย่างเอสโตเนียที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 25.2% (YoY) ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินส่งผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน และอาจจะส่งผลกระทบต่อความมีประสิทธิภาพของนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป นอกจากนั้นหากราคาพลังงานยังคงไม่ลดลงก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยหากยุโรปประสบปัญหาก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดได้
ปัจจัยที่สาม เศรษฐกิจจีนที่ยังสามารถเป็นไปได้ทั้งสองทาง โดยทางลบซึ่งอาจเกิดจากนโยบายในการควบคุม COVID-19 และการควบคุมพื้นที่ที่แพร่ระบาดอย่างเข้มงวด รวมถึงปัญหาในภาพอสังหาริมทรัพย์ โดยล่าสุดนักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวได้เพียง 3.5% ในปี 2022 นี้ นับว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพค่อนข้างมากสำหรับเศรษฐกิจจีน
ในขณะที่ทางบวกอาจะเกิดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ซึ่งอาจต้องจับตาดู การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติครั้งที่ 20 (The 20th National Congress of the Chinese Communist Party) ที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 16 ต.ค. นี้ โดยคาดว่า ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง จะดำรงตำแหน่งต่อเป็นวาระที่ 3 ท่ามกลางความท้าทายในการฝ่าปัญหาทางเศรษฐกิจ
สุดท้าย การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ที่แม้อาจจะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาสินค้านำเข้าที่ลดลง แต่อาจจะส่งกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทข้ามชาติต่างๆ (Multinational Corporations) โดยนับตั้งแต่ต้นปี เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น 12.9% เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก (ณ วันที่ 11 ก.ย.) และ 7.7% เมื่อเทียบกับเงินในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย
โดยทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่อาจจะมีบทบาทสำคัญที่มีส่วนกำหนดทิศทางของการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีควบคู่ไปกับแนวโน้มนโยบายการเงินและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไปครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด