finbiz by ttb เสริมความรู้ เจาะลึกสูตรสำเร็จ สร้างโอกาสเติบโตธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อเอสเอ็มอีไทย
"finbiz by ttb" เสริมความรู้ เจาะลึกสูตรสร้างความเติบโตแก่เอสเอ็มอีไทย จัดสัมมนาออนไลน์ "ttb SME | the X-Change เจาะลึกสูตรสำเร็จการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าสู่การเป็น Smart SME ยุค Next Normal"
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้สภาพเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ทุกอย่างชะลอตัวเป็นส่วนใหญ่ แต่ธุรกิจนำเข้าและส่งออก กลับสวนกระแสมีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ GDP ภาพรวมของประเทศไทยขยายตัว 1.6% แต่ถึงเช่นนั้นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ก็ยังเผชิญกับความท้าทายด้านต่างๆ จากทั้งสถานการณ์โลก ปัจจัยจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและวัตถุดิบสินค้าที่ขึ้นสูง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีต้นทุนทางการเงินค่อนข้างสูงมากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี คือสถาบันการเงิน ที่เดินหน้าเสริมความรู้เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ "finbiz by ttb" และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ในหัวข้อ ttb SME | the X-Change เจาะลึกสูตรสำเร็จการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าสู่การเป็น Smart SME ยุค Next Normal
นางพรรณวลัย อินทราพิเชฐ หัวหน้าบริหารการตลาดลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวต้อนรับ และพูดถึงที่มาของหัวข้อสัมมนานี้ว่า ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มถดถอยตามเศรษฐกิจโลกจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ภาคการส่งออกยังเติบโตสวนกระแส ซึ่ง เอสเอ็มอี ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนาออนไลน์ภายใต้โครงการ finbiz by ttb เพื่อมุ่งเน้นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำเข้า-ส่งออก ให้สามารถเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายด้านต่าง ๆ ทั้งจากสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศในยุค Next Normal
- โอกาส + 5 เคล็ดไม่ลับ พาเอสเอ็มอีเติบโตในตลาดโลก
นางแคทรีน อมตวิวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บจก. เฮด วัน ฮันเดรด บรรยายในหัวข้อ "Xtreme growth opportunity for import-export" ว่า โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้คนบนโลกใบนี้เปลี่ยนไป แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด และสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อสอดคล้องกับผู้บริโภคปัจจุบัน ทั้งนี้ได้มีข้อมูลทางการตลาดที่มาจากการสำรวจและพบว่ามี 5 โอกาส และเป็นเทรนด์ใหม่ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลก และเป็นโอกาสของเอสเอ็มอี ประกอบไปด้วย
- ความเปลี่ยนแปลงของผู้นำเข้าสินค้าจากไทย ซึ่งปัจจุบันคือประเทศจีนที่มีมูลค่าการซื้อมากที่สุด กำลังจะขึ้นแทนที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นตลาดเบอร์ 1 ด้านการส่งออกของไทยในอดีต
- การปลดล็อก demand จาก E-commerce ที่เติบโต ซึ่งเกิดจากตลาดโลกแบบไร้พรมแดน สามารถซื้อได้ทุกที่ทุกเวลา และการซื้อขายออนไลน์ได้เป็นพฤติกรรมใหม่ของคนไทยและผู้คนทั่วโลก
- สินค้ากลุ่ม Hi-Tech ก้าวกระโดด รถ EV แบตเตอรี่และชิ้นส่วน เป็นที่ต้องการมาก อันเกิดจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว
- การเกิดขึ้นของปรากฎการณ์ Homebody Economy ชีวิตติดบ้าน ที่ทำให้ผู้คนลงทุนกับสินค้าซึ่งเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้าน
- Wellness First-At your best สร้างสมดุลสุขภาพ กาย-ใจมาก่อน ซึ่งหมายถึงการเติบโตของสินค้าสุขภาพอย่างรอบด้าน
นางแคทรีน กล่าวว่า เมื่อทราบเทรนด์ของตลาดนำเข้า - ส่งออกแล้ว จากนั้นจึงเป็นเคล็ดลับในการสร้างธุรกิจให้เติบโต ผ่านกลยุทธ์ A,B,C,D,E ได้แก่ A ซึ่งหมายถึง Think AHEAD หรือคิดตอบโจทย์ล่วงหน้า มองอนาคตความต้องการโดยมีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ตัว B หมายถึง Build Brands หรือการเสริมความแข็งแรงให้แบรนด์ สามารถทำให้เรื่องราวของแบรนด์เชื่อมโยงกับลูกค้าได้ ตัว C หมายถึง Consumers Direct สื่อตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องพึ่งพิงตัวกลาง ตัว D หมายถึง Go Digital นั่นคือใช้ ดิจิทัลในการเพิ่มโอกาส โดยต้องคิดให้สมบูรณ์แบบเป็นวงจรเชื่อมต่อกัน ตั้งแต่การนำเสนอสินค้าและปิดการขาย ตัว E หมายถึง Embrace the Environment โอบกอดสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์โลกร้อนที่ผู้คนมีความอยากสนับสนุนแบรนด์ที่ไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม
- DITP พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคส่งออก
นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP ร่วมเสวนาในหัวข้อ "The disruption of Thailand’s import-export …and what’s next" อธิบายว่า แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกอย่างเกิดการชะลอตัว แต่ธุรกิจนำเข้าและส่งออกกลับมีการเติบโต โดยในปี 2564 เติบโต 17.4% ขณะที่ในปี 2565 ในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตได้ 12.7%
ขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยระบุว่า สินค้าส่งออกหลักของไทยยังอยู่ใน 5 กลุ่มสินค้า คือ 1. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3. อัญมณีและเครื่องประดับ 4. ผลิตภัณฑ์ยาง และ 5. เม็ดพลาสติก
"ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยได้รับปัจจัยบวกในการส่งเสริม เช่น กระแสความมั่นคงทางอาหารจากการที่ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มทรงตัว และค่าเงินบาทที่อ่อนลง แต่ขณะขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าระวังในปัจจัยด้านลบไม่ว่าจะเป็น ความตึงเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลก ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่" นายพรวิช กล่าว
คุณพรวิช กล่าวต่อว่า สิ่งที่ เอสเอ็มอี ต้องตระหนักคือการปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ธุรกิจ และความต้องการของโลก โดยเฉพาะการสามารถประยุกต์เทรนด์ที่เกิดขึ้นในโลกทั้งด้าน B-Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ด้าน C-Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และตอบโจทย์ความเป็น G-Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจในระดับโลกเข้ากับธุรกิจของตัวเองได้
สำหรับ DITP นั้น พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในด้านการส่งออกในหลายรูปแบบ ทั้งในด้านการฝึกอบรม การให้บริการข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศผ่าน Market Intelligence Tools ต่างๆ และการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมเจรจาการค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยังมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และกิจกรรมขยายตลาดในต่างประเทศอื่นๆ ผ่านโครงการ SMEs Pro-active Program ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดในต่างประเทศได้มากขึ้น และเป็นการสร้างความมั่นใจว่าผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการจะได้พบกับคู่ค้าตัวจริงที่มีศักยภาพและผ่านการคัดกรองมาแล้วอย่างดี
- ถอดบทเรียนการเติบโตของเซ็ปเป้
นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็ปเป้ กล่าวว่า ธุรกิจของเซ็ปเป้เริ่มจากการการเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อเห็นโอกาสความต้องการของตลาดด้านสุขภาพและความงาม จึงนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนองค์กร ผ่านสินค้า จนปัจจุบันมีสินค้าเซ็ปเป้กว่า 10 แบรนด์สินค้า 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ จำหน่ายใน 98 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังสามารถครองผู้นำตลาดเครื่องดื่ม Functional ในไทย
"สิ่งที่ทำให้ตลาดต่างประเทศประสบความสำเร็จ คือการใช้นวัตกรรม การนำเอาผลผลิตเกษตรไทยมาแปรรูปเพื่อผสานเข้ากับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดต่างประเทศ ได้แก่ เครื่องดื่มผสมวุ้นมะพร้าวแบรนด์ โมกุ โมกุ (Mogu Mogu) และเครื่องดื่มผสมว่านหางจระเข้ เซ็ปเป้ อโลเวร่า ดริ้งค์" นางสาวปิยจิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทางบริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์บริหารสต็อกสินค้าเพื่อระบายสินค้า โดยใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อเชื่อมต่อกับผู้บริโภคมากขึ้น พร้อมแนะนำเทคนิคการบริหารธุรกิจต่างประเทศด้วยการกำหนดโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ มุ่งเน้นการสร้าง Brand Awareness และกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน โดยในปัจจุบันสามารถขยายฐานลูกค้าเข้าสู่ช่องทางห้างค้าปลีกในหลายประเทศหลักของทวีปยุโรปได้ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับครอบคลุมถึงผู้บริโภคเป็นวงกว้างในหลายประเทศ
- ทีทีบี พร้อมเคียงข้างเอสเอ็มอีลุยตลาดนำเข้า-ส่งออก
นางสาวบุษรัตน์ เบญจรงคกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีทั้งที่เป็นบริบทจากสถานการณ์โลกที่ควบคุมได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นไปเฉลี่ยใกล้ๆ 10% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูงมาก โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีการปรับตัวแข็งมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลัก ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับต้นทุนของผู้ประกอบการ
นางสาวบุษรัตน์ กล่าวว่า ความผันผวนของค่าเงิน เป็นหนึ่งต้นทุนที่ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการได้ การบริหารความผันผวนของค่าเงินที่ดี จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน และการกระจายไปใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local currency) มากขึ้น เพื่อลดควาผันผวนจากเงินดอลล่าร์สหรัฐ
"ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ ด้วยบัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงิน ทีทีบี (ttb multi-currency account) ที่สามารถบริหารจัดการได้ถึง 11 สกุลเงินในบัญชีเดียวรวมสกุลเงินบาท ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน การแลกเปลี่ยนเงิน และการเรียกดูรายการเดินบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถทำได้อย่างสะดวก ง่าย และรวดเร็ว ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยทีทีบี ถือว่าเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียว ที่พัฒนาบัญชีนี้เพื่อผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ส่งออกสามารถใช้บัญชีนี้บัญชีเดียวในการบริหารธุรกิจทั้งในและต่างประเทศได้เลย" นางสาวบุษรัตน์ กล่าว
องค์ความรู้ที่นำเสนอผ่านงานสัมมนาออนไลน์เป็นความตั้งใจของทางธนาคารเพื่อเสริมความรู้ สร้างความแข็งแกร่งด้านการค้าระหว่างประเทศให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และเร่งปรับตัวสู่การเป็น Smart SME ในยุค next normal ต่อไป
สำหรับผู้สนใจรับชมสัมมนาออนไลน์ "ttb SME I the X-Change เจาะลึกสูตรสำเร็จการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าสู่การเป็น Smart SME ยุค Next Normal" สามารถเข้าไปชมย้อนหลัง คลิกที่นี่
ติดตามสาระความรู้ดีๆ สำหรับธุรกิจ ได้ที่เว็บไซต์ ttbbank หรืออัปเดตทุกดิจิทัลเทรนด์ และความรู้ดีๆ ที่ SME ไม่ควรพลาด เพียงแอดไลน์ @ttbSME