เสริมแกร่ง SME เข้าถึงแหล่งเงินฝ่าวิกฤติ
สวัสดีครับ ก้าวสู่ครึ่งหลังของปี 2565 โลกของเรายังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากแรงกดดันหลายประการ อาทิ การระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน และฝีดาษวานรที่กำลังดำเนินอยู่ ปัญหาความขัดแย้งของยูเครนและรัสเซียยังคงอยู่ เพิ่มเติมด้วยปมขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยเรื่องไต้หวัน
นอกจากนี้กระแสการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้ง ตลอดจนปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกทำให้การทำธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต้องเร่งปรับตัวให้ทันเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ หัวใจสำคัญของทุกธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่คือการจัดการกับกระแสเงินสดและธุรกรรมการโอนเงินต่างๆ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่กำลังก้าวสู่ปีที่สามทำให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SME ต้องอ่อนแอลงจากปัญหาธุรกิจ กอปรกับปัญหาใหญ่ดั้งเดิมของ SME ทั่วโลกคือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถฝ่ากระแสความยากลำบากที่เข้ามาถาโถมใส่ระลอกแล้วระลอกเล่า
สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย ชี้ให้เห็นว่าในปี 2561 มี SME เพียง 5.2 แสนราย หรือร้อยละ 17 ของ SME ทั้งประเทศกว่า 3 ล้านรายที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อระบบธนาคาร
เป็นที่ทราบกันดีว่า SME ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2561 SME จำนวน 3 ล้านรายคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 99.8 ของจำนวนบริษัททั้งหมดในประเทศและยังมีการจ้างงานกว่า 14 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ
นอกจากนี้ SME ยังเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เนื่องจากจ้างแรงงานมากและมีสภาพคล่องทางการเงินน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหลายระลอก มีการสำรวจว่า SME กว่า 1.33 ล้านรายได้รับผลกระทบ ขณะที่มีแรงงานกว่า 4 ล้านคนกำลังจะตกงาน และหากสถานการณ์ยืดเยื้อไปเรื่อยๆ เราอาจจะต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลโดยเฉพาะในภาคบริการ
เมื่อพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน เราจะพบว่านอกจากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ภายใต้มาตรการช่วยเหลือแบบต่างๆ แล้ว ยังพอมี “ตัวช่วย” อื่นอยู่บ้างสำหรับ SME ไทย สมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาคธุรกิจต่างๆ ได้เร่งผสานความร่วมมือเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ SME ผ่านโครงการ Digital Supply Chain Finance ภายใต้แผนงาน Smart Financial and Payment Infrastructure for Business
โดยโครงการนี้ได้ชื่อว่าเป็น Game Changer ของการให้บริการทางการเงินแก่ SME จากโครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์มที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อจัดการกับธุรกรรมการซื้อขายแบบดิจิทัลโดยเฉพาะ รวมถึงลดข้อกังวลด้านการปลอมแปลงเอกสาร อีกทั้งลดความเสี่ยงด้านการใช้เอกสารเพื่อเวียนขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing)
โครงการนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ โครงสร้างที่ให้ SME ส่งข้อมูลทางการซื้อขายสินค้า การชำระเงินและภาษี ส่วนที่สอง คือ บริการให้สินเชื่อ (Digital Supply Chain Financing) ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ขาย (SME) เพื่อให้ได้รับเงินค่าขายสินค้าทันทีเมื่อการส่งสินค้าเสร็จสิ้น หรือเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ซื้อเพื่อชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่ช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ
โดยในอนาคตข้อมูลพฤติกรรมผู้ขายและผู้ซื้อภายใต้โครงการ Digital Supply Chain Finance รวมถึงข้อมูลทางเลือกอื่น ๆ อาทิ ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายรายเดือนโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะถูกจัดส่งให้บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) และด้วยเทคโนโลยี AI และ Data Analytics
ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางด้านการประเมินความเสี่ยงทางเลือก (Alternative Credit Scoring) ซึ่งน่าจะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถนำไปต่อยอดสู่การออกผลิตภัณฑ์เพื่อผู้กู้รายเล็ก อาทิ สินเชื่อดิจิทัล เพื่อลดอุปสรรคและเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินแก่ SME ต่อไป
ความท้าทายอีกประการที่ธุรกิจ SME ต้องปรับตัวให้ทันคือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่กำลังเป็นปัจจัยแห่งอนาคตเศรษฐกิจโลก ภาครัฐและภาคธนาคารควรมีมาตรการที่ชัดเจนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อช่วย SME ให้สามารถมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนในประเทศ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของความพยายาม ดังกล่าวคือการให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการ Transformation Loan หรือสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ทำให้ SME สามารถนำเงินทุนไปต่อยอดธุรกิจและเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากธุรกิจ SME ได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมและทันท่วงที บริษัทเหล่านี้จะสามารถมีส่วนร่วมในการยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การแข่งขันในระดับโลกได้ต่อไปครับ