KBank Private Banking รุกการลงทุนอย่างยั่งยืน ปีหน้าออกกองทุน 5 หมื่นล้านบาท
KBank Private Banking ชู 'ลงทุนยั่งยืน’ คือ ทางรอด...ไม่ใช่ทางเลือก ย้ำแบงก์ - เคแบงก์ไพรเวทแบงกิ้ง ทั้งหน้าที่ และกำลังในการช่วยขับเคลื่อนกระแสความยั่งยืน พร้อมหนุนลงทุน ESG ปีหน้าจ่อเปิดระดมทุนกองใหม่รวมเฉียด 5 หมื่นล้านบาท
“ความยั่งยืน” ถือเป็น “ทางรอด”ไม่ใช่ “เลือก” แต่วันนี้คนไทยตระหนัก ด้าน “ความยั่งยืน” น้อยมาก และคิดว่าความยั่งยืนคือ “ทางเลือก” ยังไม่ทำตอนนี้ ยังไกลตัว และส่วนใหญ่ทำเพราะแบรนดิ้ง ดังนั้นเรื่องนี้น่าห่วงมาก”
“จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การลงทุนอย่างยั่งยืน มาเร็วกว่าที่เราคิด เป็นเรื่องเกี่ยวกับแบงก์ และไพรเวทแบงกิ้ง 2 มิติด้วยกัน มิติแรก คือ เรามี “หน้าที่” มิติที่สอง เรามี “กำลัง”
โดยมิติแรก เรามีหน้าที่ ช่วยโลก เปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ผ่านการวางนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจในอนาคต เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
มิติที่สอง เรามีหน้าที่ ในฐานะที่ปรึกษา การลงทุน ซึ่งหน้าที่สำคัญคือ การสร้างผลตอบแทน และปกป้องพอร์ตลงทุนของนักลงทุน สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นหากลงทุนในบริษัทที่อนาคตจะถูกแบน จากผู้บริโภค จากผู้กำกับ บริษัทเหล่านี้ไม่มีทางดีได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องแสวงหาผู้ชนะ ที่ปรับเปลี่ยนตัวเอง และไม่ถูกแบนจากกฎกติกาโลก ในด้านความยั่งยืน
สอดคล้องกับการจัดตะกร้าการลงทุนของ Lombard Odier ที่วันนี้มีการจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อตระหนักด้าน ESG มากขึ้น สิ่งที่
Lombard ทำคือ ยอมให้ตัวเลือกน้อยลง เพราะเชื่อว่า บริษัทที่เหลือจะไม่ถูกแบนจากนักลงทุน ที่เหลือจะอยู่รอด และเป็น Winer ที่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว
ดังนั้น พอร์ตการลงทุน จะมุ่งไปสู่ความยั่งยืนบนกรอบแนวคิด ESG จะมุ่งไปสู่ 3 ธีมหลัก เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Cilmate Transition )
ธีมแรก Solution Providers ธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ธีมที่สอง Transition Condidates กลุ่มที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และธีมสุดท้ายคือ Adaptation Opportunities ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงจากภูมิอากาศ
สุดท้ายแล้ว เคแบงก์ไพรเวทแบงกิ้งมีเป้าหมายต้องการให้พอร์ตการลงทุนในกองทุนมีเรื่องของความยั่งยืน และ ESG เป็น 100% ในระยะข้างหน้า จากวันนี้ที่เชื่อว่า เข้าไปลงทุนในบริษัทที่ตระหนัก และมี ESG แล้ว 70-80%
และระยะข้างหน้า เคแบงก์ไพรเวทแบงกิ้ง จะมีการปัดฝุ่นกองทุน “K-Climate Transition” ซึ่งเป็นกองทุนที่ออกมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 แต่จะมีการใส่ในเรื่องของ ESG เพิ่มเติม รวมถึงภายในไตรมาสที่ 1-2/2566 จะมีการออกกองทุน “PLASTIC CIRCULARITY”
โดยได้มีการพูดคุยกับผู้จัดการกองทุนอีก 2-3 รายในการออกกองทุนเรื่อง “Sustainable CHINA” ซึ่งเป็นโอกาสในการลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศของ “สี จิ้น ผิง” ที่จะเน้นเรื่อง “Robotic AI-EV- Sustainable และพลังงานสะอาด”
โดยรวมเม็ดเงินระดมทุนระยะข้างหน้า ภายใต้ความยั่งยืน ESG อยู่ที่ราว 3-5 หมื่นล้านบาท เพราะมองว่าการลงทุนจะเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะเปิดประตูสู่ทางออกสำหรับวิกฤติที่จะเข้ามาถึงในอนาคตได้
อีกหนึ่งบริษัท ที่มุ่งผลักดันเรื่อง Net Zero อย่างจริงจัง อย่าง “บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC
ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร กล่าวว่า ด้วยบทบาทของผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล บริษัท สานต่อการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ มุ่งสู่ เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593
โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธุรกิจเดิม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ได้ปรับโครงสร้างของธุรกิจ ด้วยการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
ทั้งนี้ PTTGC คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 พันล้านดอลลาร์ และ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์