ธปท.ชี้ คนไทยรุ่นใหม่ ขาดความมั่นคง 3 ด้าน บั่นทอนเศรษฐกิจไทยระยะยาว

ธปท.ชี้ คนไทยรุ่นใหม่ ขาดความมั่นคง 3 ด้าน บั่นทอนเศรษฐกิจไทยระยะยาว

ธปท.ชี้คนไทยรุ่นใหม่เผชิญความท้าทายมากขึ้น และขาดความมั่นคง 3 ด้าน เศรษฐกิจ สังคม หนี้สูง ห่วงบั่นทอนเศรษฐกิจระยะยาว

    ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 หัวข้อ ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย Strengthening Economic and Financial Foundations for the Next Generation ว่า ปีนี้ เป็นปีที่มีความท้าทายยิ่ง  ไม่เพียงแต่เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

      แต่ประเทศไทยยังเผชิญกับความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

      ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้นั้นคือ คนรุ่นต่อไป (next generation) ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยเรียน คนวัยเริ่มทำงาน หรือคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว 

     ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น การวาง “รากฐาน” (foundations) ของระบบเศรษฐกิจ และการเงินที่เอื้อต่อการสร้างศักยภาพ และความมีส่วนร่วมให้กับคนรุ่นใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่มาของงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้ภายใต้หัวข้อ “ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย Strengthening Economic and Financial Foundations for the Next Generation”

    อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มคนที่มีพลัง กล้าคิดกล้าลอง อยากเรียนรู้ สนใจในโอกาสที่เพิ่มขึ้นจากโลกที่ไร้พรมแดน และนวัตกรรม

    คนรุ่นใหม่จึงเต็มไปด้วยศักยภาพที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากยังขาดความมั่นคงในอนาคต (insecurity) ในหลายด้าน

     ในด้านที่หนึ่งนั้น คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (economic insecurity)

   ประการแรก คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการหาเลี้ยงชีพ และการสร้างรายได้ที่มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ ที่สั่งสมความมั่งคั่งในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงอย่างต่อเนื่อง จากอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยที่สูงถึง 7.2%ต่อปีในช่วงทศวรรษ 1980s ลงเหลือ 3.6% ในช่วงทศวรรษ 2010s

     ประการที่สอง การศึกษาและการพัฒนาทักษะของคนรุ่นใหม่ให้ทันสมัยอยู่เสมอทำได้ยากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน เนื่องจากบริบทโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และความไม่แน่นอนในอนาคตที่สูงขึ้น 

     ทั้งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด กระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สร้างคำถามต่อคนรุ่นใหม่

   ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยเรียนหรือคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ว่าทักษะใดที่จะตอบโจทย์ความต้องการของโลกในอนาคต (skills for the future) งาน และรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร อาชีพปัจจุบันจะอยู่รอดและเติบโตในอนาคตหรือไม่ (future of work)

    ประการที่สาม คนรุ่นใหม่มีภาระหนี้ที่สูงกว่าคนรุ่นก่อนๆ คนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น และเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย โดยครึ่งหนึ่งของคนอายุประมาณ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคหรือหนี้จากบัตรเครดิต ขณะที่หนึ่งในห้าของคนที่เป็นหนี้เสียกระจุกอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ช่วงอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและอยู่ในช่วงสร้างรากฐานครอบครัว

    ในด้านที่สองนั้น คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากขาดความมั่นคงทางสังคม (social insecurity)

      คนไทยรุ่นใหม่เติบโตมาในช่วงที่ความขัดแย้งทางสังคมมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของ World Value Survey ที่พบว่าประเทศไทยมีคะแนนความเชื่อใจกันของคนในสังคมลดลงถึงหนึ่งในสี่ในช่วงเวลาเพียง 10 ปี ระหว่างปี 2008-2018 

     ส่วนผลสำรวจเรื่องความแตกแยกในสังคมโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างของคนอายุต่ำกว่า 40 เห็นว่าสังคมไทยมีคุณภาพต่ำกว่า เมื่อเทียบกับความคิดเห็นจากกลุ่มคนอายุ 40 ขึ้นไป 

     ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับประเทศไทยเท่านั้น ผลการสำรวจจากกว่า 40 ประเทศของ Deloitte Global Millennial Survey พบว่ามีคนรุ่นใหม่แค่ 36% ในกลุ่มตัวอย่างในปี 2017 ที่คาดว่าสภาพสังคม และการเมืองจะดีขึ้น และสัดส่วนนี้ยังลดลงเหลือเพียง 24% ในปี 2019

     สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทย คือ ความไม่มั่นคงทางสังคมนี้ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคต ซึ่งเกิดจากการบริโภคสื่อที่มีความเห็นใกล้เคียงกับคนฝั่งเดียวกัน (echo chamber) ในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะมีความคิดสุดขั้ว และรู้สึกอคติต่อคนฝั่งตรงข้ามมากกว่า 

     รวมถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่สูง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความตึงเครียด และความไม่มั่นคงในสังคม

    ในด้านที่สามนั้น คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากขาดความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม(environmental insecurity)

     การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เร่งตัว และรุนแรงขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยไทยถือเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภัยธรรมชาติ ขณะที่ขีดความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติของไทยค่อนข้างต่ำ โดยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 48 ประเทศ

     การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคตของคนไทย ไม่เพียงแต่รายได้ และทรัพย์สินที่เสียหายจากภัยธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้น และรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น 

     แต่ยังกระทบการผลิตในภาคเกษตรที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนไทย นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบภาวะน้ำท่วม

     ดังนั้น การขาดความมั่นคงในอนาคตทางสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่จึงครอบคลุมถึง การขาดความมั่นคงทางอาหาร (food insecurity) และการขาดความมั่นคงในถิ่นฐานที่อยู่ (insecurity in human settlements) อีกด้วย

     ความไม่มั่นคงในอนาคตเหล่านี้จะบั่นทอนแรงจูงใจ ความพร้อม และโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาทักษะลงทุน บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ และก้าวเข้ามาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

     การที่คนไทยรุ่นใหม่ไม่มีความมั่นคงในอนาคตนี้เกิดจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ การที่ระบบต่างๆ ในประเทศไทยปรับเปลี่ยนไม่ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่พร้อมรับมือกับอนาคต ซึ่งผมขอยกตัวอย่าง 3 ตัวอย่าง

      ตัวอย่างที่หนึ่งคือ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ตอบสนองต่อบริบทของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปอุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเลียม และปิโตรเคมี เป็นอุตสาหกรรมโลกเก่า

      ซึ่งคิดเป็น 40% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด 37% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม และ 10% ของ GDP รวม ในขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปจะถูกกระทบจากการเปลี่ยนเป็น EV จากความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ลดลงถึง 90% สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์จากกระแส digitalization และ EV เนื่องจากผลิตสินค้าที่เติบโตต่ำ 

     เช่น hard disk drives คิดเป็น 38% ของการส่งออกในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีมีแนวโน้มที่กระแสสิ่งแวดล้อมจะทำให้ความต้องการใช้พลาสติก และน้ำมันลดลง

     ตัวอย่างที่สองคือ ระบบการศึกษา ไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปทำให้อาชีพของคนไทยในปัจจุบันไม่ได้ตรงกับระดับการศึกษามากนักเมื่อเทียบกับในอดีต งานวิจัยโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

     พบว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนที่จบปริญญาตรีร้อยละ 80 ทำงานในอาชีพที่ถือว่าเป็นอาชีพทักษะสูง (high skill) แต่ในปัจจุบันคนที่จบปริญญาตรีกลับทำงานในกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะระดับกลาง (middle skill) มากขึ้น ส่วนกลุ่มที่จบอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาที่ส่วนหนึ่งเคยได้ทำงานกลุ่มทักษะกลางและสูง ปัจจุบันก็ถูกผลักไปทำงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะ (low skill) เป็นส่วนใหญ่

     ตัวอย่างที่สามคือ การขาดการแข่งขันที่เป็นธรรมในภาคธุรกิจที่ไม่เอื้อต่อการเข้ามาประกอบกิจการของผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งเป็นการจำกัดศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่มีความความสามารถแต่ขาดโอกาส 

     งานวิจัยโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า อัตราการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจรายใหม่ (entry rate) มีแนวโน้มลดลงในช่วง15 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทเดิมในอุตสาหกรรมมีอำนาจผูกขาดมากขึ้น ในบริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พลวัตของภาคธุรกิจที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น 

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

     การสร้างความมั่นคงในอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน และเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป 

     ซึ่งภาพหรือรูปร่างหน้าตาการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (shape of growth) ที่ควรจะเป็น ควรครอบคลุมมิติต่อไปนี้

     หนึ่ง โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องเปิดโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสที่สูงในหลายมิติควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บริการสุขภาพเทคโนโลยี บริการทางการเงิน 

    รวมถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ และโอกาสทางธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ใช้ศักยภาพของตนตอบสนองความต้องการในระบบเศรษฐกิจในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งยังช่วยลดการกระจุกตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจ

     สอง ระบบเศรษฐกิจจะต้องเอื้อให้คนรุ่นใหม่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งในการยกระดับการผลิตในภาคเศรษฐกิจปัจจุบันที่สะท้อนจุดแข็ง (comparative advantage) ของประเทศ เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) และการใช้ช่องทาง e-commerce ในการขายสินค้า รวมถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งภาคเศรษฐกิจและการเงินในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในบริบทโลกใหม่

     สาม ระบบเศรษฐกิจต้องมีโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) เพื่อให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะบุกเบิกแสวงหาโอกาสใหม่ในการลงทุนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้

      การเสริมสร้างรากฐานให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของไทยก้าวทันบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพื่อช่วยให้คนรุ่นต่อไปสามารถใช้ศักยภาพที่มีในการร่วมพัฒนาประเทศของเราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ

     ธนาคารแห่งประเทศไทย เองก็มีบทบาทในการดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจไทยมั่นคง และยั่งยืน

     รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจและครัวเรือนเพื่อเพิ่มรายได้ และความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง นโยบายต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีส่วนในการช่วยสร้างความมั่นคงในอนาคตให้แก่คนรุ่นใหม่ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

    ยกตัวอย่างแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ด้านที่มีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงในอนาคตให้กับคนรุ่นต่อไป

     แนวนโยบายแรก คือ แนวนโยบายเพื่อเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผลักดันนโยบายนี้ด้วยแนวทาง 3 Open 

     ได้แก่ (1) Open Infrastructure คือ โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการที่หลากหลายสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกบริการที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น (2) Open Data 

     โดยการผลักดันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งใน และนอกภาคการเงิน เพื่อให้ digital footprint ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง ไม่เกิดการผูกขาดข้อมูลโดยบริษัทรายใหญ่ไม่กี่ราย 

    และ (3) Open Competition โดยสนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหม่ และรายเดิมสามารถแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม (level-playing field) เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบสนองผู้ใช้บริการและอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลที่เท่าเทียมกัน

     แนวนโยบายที่สอง คือ แนวนโยบายในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ และครัวเรือนสามารถปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และบริการทางการเงินที่จำเป็นต่อการปรับตัว

     ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกแนวนโยบายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินผนวกเรื่องนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยง

      ธนาคารแห่งประเทศไทย หวังว่าแนวนโยบายทั้งสองนี้จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม และสามารถใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์